เกียรติของซามูไร โศกนาฏกรรม และหน้าต่างแห่งปรัชญาที่มีชื่อเสียง
ความกลมกลืนของสีและแสงที่สวยงามจะดึงดูดสายตาของคุณในทันที่ที่ก้าวเข้าสู่เก็งโคอัน คุณอาจสังเกตเห็นเพดานที่มีรอยเลือดและหน้าต่างทรงกลม ซึ่งทั้งน่าขนลุกสวยงามไปพร้อมๆ กัน ทั้งยังมีเรื่องเล่าอีกด้วย
วิธีการเดินทาง
คุณสามารถไปที่เก็งโคอันได้โดยรถไฟแล้วต่อด้วยรถบัส
คุณสามารถนั่งรถไฟใต้ดินสายคาราสุมะจาก สถานีเกียวโต ไปยังสถานีคิตะ-โอจิได้ เมื่อถึงสถานีดังกล่าวแล้ว ให้นั่งรถบัสคิตะสาย 1 ไปลงที่ป้ายทะคะกะมิเนะ เก็งโคอัน-มาเอะ แล้วเดินจากป้ายรถบัสไปยังเก็งโคอันเพียงหนึ่งนาที
เกร็ดน่าสนใจ
สวนที่เก็งโคอันถือเป็นหนึ่งในทัศนียภาพที่งดงามที่สุดในเกียวโต
มองหาภาพวาดหมึกของยะมะงุชิ เซคเค บนประตูเลื่อนกระดาษฟุสึมะ
วัดแห่งนี้มีรอยเท้าเปื้อนเลือดซึ่งมาจากการสู้รบอันน่าสลดในช่วงปีค.ศ.1600
เก็งโคอันคือตัวอย่างที่หาได้ยากของวัดที่เปลี่ยนความสัมพันธ์ทางพุทธศาสนาของตนและเป็นที่รู้จักกันในนามฟุกโกะเซนรินหรือวัดเซนที่ได้รับการบูรณะ
ความยืดหยุ่นแห่งเซน
เก็งโคอันแต่เดิมนั้นสร้างขึ้นในฐานะวัดสาขาย่อยของ ไดโทะคุจิ แห่งสำนักรินไซในศาสนาพุทธนิกายเซนในปีค.ศ. 1346 จากนั้นเก็งโคอันได้เปลี่ยนไปเป็นวัดของสำนักโซโตะในปีค.ศ. 1694 อุโบสถหลักที่คุณเห็นในปัจจุบันก็สร้างขึ้นในช่วงเวลานั้นเอง
เพดานที่มีรอยเลือด
เพดานที่เรียกกันว่า “เพดานเลือด” ของอุโบสถหลักนั้นสร้างมาจากพื้นของปราสาทฟุชิมิที่ถูกแยกส่วน ซึ่งในปีค.ศ. 1600 ปราสาทได้ถูกปิดล้อมโดยกองกำลังศัตรูของโทกูงาวะ อิเอยาซุ ซึ่งได้ขึ้นเป็นโชกุนในเวลาต่อมา
ผู้ปกป้องได้ป้องกันปราสาทไว้ได้นานพอที่จะชะลอให้ข้าศึกไปถึงจุดทำศึกเซกิงาฮาระที่กำลังจะเกิดขึ้นได้ช้าลง ซึ่งทำให้อำนาจของโทกูงาวะมั่นคงและทำให้ญี่ปุ่นกลับมาเป็นปึกแผ่นอีกครั้งหลังผ่านสงครามกลางเมืองที่ยาวนานถึง 150 ปี
โลหิตของคนเหล่านั้นได้หลั่งนองไปทั่วพื้นปราสาท ซึ่งภายหลังถูกนำไปทำเป็นเพดานของวัด 5 แห่งในบริเวณเกียวโต เพื่อเป็นเกียรติแก่ซามูไรเหล่านั้นและเพื่อให้วิญญาณของพวกเขาสงบลง
การจัดสวนที่ได้รับแรงบันดาลใจ
สวนนี้ประกอบด้วยแผ่นหินปูพื้น พืชพรรณ และโคมไฟที่ได้รับการจัดวางอย่างเรียบร้อย และออกแบบมาให้ลักษณะที่ปรากฏโดยรวมของสวนแห่งนี้เปลี่ยนแปลงไปตามการเคลื่อนที่ของแสงอาทิตย์ตั้งแต่เช้าจรดเย็น
ต้นเมเปิลในสวนแห่งนี้จะเปลี่ยนเป็นสีแดงในช่วงเวลาที่ต่างกันตลอดทั้งฤดูใบไม้ร่วง ซึ่งเล่นกับแนวคิดเกี่ยวกับเวลาและช่วยให้นักท่องเที่ยวได้เพลิดเพลินต้นเมเปิลเป็นระยะเวลานานขึ้น
หน้าต่างแห่งปัญญา
วัดแห่งนี้ยังมีชื่อเสียงเรื่องหน้าต่างขนาดใหญ่สองบานอีกด้วย บานหนึ่งมีทรงกลมเรียกว่า “หน้าต่างแห่งการรู้แจ้ง” ซึ่งอธิบายถึงความสมบูรณ์ทั้งหมดของจักรวาล หน้าต่างบานสี่เหลี่ยมเรียกว่า “หน้าต่างแห่งความสับสน” ซึ่งแต่ละมุมเป็นตัวแทนของความทุกข์สี่ประการของมนุษย์คือ เกิด แก่ เจ็บ ตาย