ขบวนรถสวยงามละเอียดอ่อนกับชายนุ่งผ้าเตี่ยวแห่ขบวน หนึ่งในเทศกาลที่น่าตื่นเต้นที่สุดในญี่ปุ่น
เทศกาลฮากาตะ กิอง ยามากาสะเป็นหนึ่งในเทศกาลที่น่าตื่นเต้นที่สุดในญี่ปุ่น ชายใส่ชุดดั้งเดิมวิ่งไปตามถนนฮากาตะพร้อมแห่ยามากาสะหรือขบวนรถประดับประดาสวยงามหนักหนึ่งตัน หากคุณมาท่องเที่ยวกลางเดือนกรกฎาคม ให้หาที่นั่งและเพลิดเพลินชมเทศกาลซึ่งมีประวัติศาสตร์ที่ลึกซึ้งและบรรยากาศที่มีสีสัน
พลาดไม่ได้
- หาที่นั่งชมเทศกาลที่เหมาะ
- งานอีเวนต์ขนาดเล็กสองสัปดาห์ก่อนวันงานเทศกาล
- จับตาดูผ้าคาดผมสีต่าง ๆ ของผู้เข้าร่วม
วิธีการเดินทาง
เทศกาลนี้จัดขึ้นทั่วย่านฮากาตะ แห่งฟุกุโอกะ ซึ่งคุณสามารถเดินทางด้วยรถไฟชินคันเซนจากเมืองใหญ่หลายเมืองในญี่ปุ่น รถไฟใต้ดินเป็นวิธีเดินทางรอบฟุกุโอกะที่ดีที่สุด โดยคุณก็สามารถเดินทางด้วยรถบัสและรถไฟท้องถิ่นได้ด้วย
ผู้เยี่ยมชมสองล้านคน
ฮากาตะ กิอง ยามากาสะเป็นหนึ่งในเทศกาลที่น่าตื่นเต้นที่สุดในญี่ปุ่น ทีมชายที่แห่ยามากาสะซึ่งเป็นขบวนรถที่ประดับประดาสวยงามหนักหนึ่งตัน ผู้ชมเกือบสองล้านคนพากันมาชมเทศกาลคลาสสิกประจำปีที่จัดขึ้นรอบศาลเจ้าคุชิดะจิงจะ
ขบวนรถ
ขบวนรถยามากาสะที่ใช้ในงานเทศกาลมีอยู่สองประเภท ขบวนรถที่ประดับประดางดงามจะเรียกว่า คะซะริยะมะกะสะ ในขณะที่ขบวนรถที่ใช้แห่ในเทศกาลจะเรียกว่า คะกิยะมะกะสะ ขบวนรถคะกิยะมะกะสะจะจัดแสดงทั่วเมืองฟุกุโอกะ
ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม
แต่ละขบวนรถสูงมากกว่า 10 เมตรและประดับประดาไปด้วยตุ๊กตาซามูไรเสมือนจริงหรือตัวละครอะนิเมะยอดนิยม ขบวนรถสร้างขึ้นโดยทีมที่มีช่างทำตุ๊กตามืออาชีพแห่งฮากาตะ ขบวนรถซึ่งจัดแสดงที่ศาลเจ้าคุชิดะจิงจะเปิดให้ชมตลอดปี

สถานที่ชม
เทศกาลนี้จัดขึ้นรอบศาลเจ้าคุชิดะจิงจะ แต่สนามวิ่งแห่จะครอบคลุมเกือบทั้งฮากาตะ สี่แยกฮิกาชิมะจิซุจิและเมจิโดะริเป็นจุดที่เหมาะไปชมขบวนรถและทีมแห่ขบวนจากระยะไกล ขณะเดียวกัน สี่แยกถนนโชวะโดะริและถนนไทฮะกูโดะริเป็นจุดที่สามารถเห็นขบวนรถแต่ละขบวนได้ใกล้สุดเมื่อขบวนแห่มาตามถนนเหล่านี้
จุดเริ่มต้น
ตั้งแต่วันที่ 10 เดือนกรกฎาคม งานจัดขึ้นโดยมีการแห่ขบวนรถคะกิยะมะกาสะไปตามเมือง เทศกาลจะดำเนินไปจนถึงวันแข่งขันขบวนแห่ที่เรียกว่าโอะอิยะมะ ในวันที่ 15 กรกฎาคม
เมื่อถึง 4.59 นาฬิกา เสียงกลองส่งสัญญาณเริ่มแห่แข่งขันและขบวนรถจะเริ่มแห่ออกไปเป็นระยะทางห้ากิโลเมตร ทีมที่เร็วที่สุดจะใช้เวลาแห่ประมาณสามสิบนาทีและจะตัดสินคะแนนกันจากความเร็วและสไตล์การแห่ของทีม กล่าวคือทีมต่าง ๆ ต้องแห่ให้สวยงามและน่าตื่นเต้นไปด้วย
ทีมการแข่งขัน
การแข่งขันมีทั้งหมดเจ็ดทีม โดยแต่ละทีมจะเป็นตัวแทนของย่านทางประวัติศาสตร์ของฮากาตะ ได้แก่ ฮิกาชิ นาคะสุ นิชิ ชิโยะ เอบิซุ โดะอิ และไดโกะกู ก่อนงานเทศกาลแต่ละทีมจะใช้เวลาหลายเดือนเพื่อเตรียมขบวนรถและฝึกฝนเพื่อลงแข่ง
ผ้าคาดผมที่เรียกว่าเทะนุกุอิจะมีหลายสีเพื่อใช้แยกแยะบทบาทต่าง ๆ ของผู้เข้าร่วม สีแดงหมายถึงนักวิ่งที่รับผิดชอบในการแบกขบวนรถ สีแดงขาวหมายถึงผู้สูงอายุที่รับผิดชอบในการวางแผนและการเคลื่อนขบวน และสีฟ้าและขาวหมายถึงผู้สูงอายุที่รับผิดชอบในสุขภาพและความปลอดภัยของการแข่งขัน
กลยุทธ์
นักวิ่งประมาณ 30 คนจะช่วยกันแบกขบวนรถหนึ่งชุด นักวิ่งจะอยู่ทางด้านหน้า ด้านหลัง หรือด้านข้างของขบวน ขี่ไดอะกะริ 2 ตัวบนยอดของรถแห่ (ตัวหนึ่งหันหน้าไปข้างหน้า อีกตัวหันหน้าไปทางด้านหลัง) และกำกับนักวิ่ง
ไดอะกะริจะใช้ท่อนไม้สีแดงที่เรียกว่า เทปโปอู เพื่อชี้ให้ว่านักวิ่งคนใดควรออกให้นักวิ่งคนใหม่เข้ามาแบกแทน ขบวนรถมีน้ำหนักมากจนถึงขั้นที่นักวิ่งที่แข็งแรงที่สุดมักแบกได้ไม่เกินสามหรือสี่นาที ซึ่งหลังจากนั้นต้องผลัดหน้าที่ให้นักวิ่งคนใหม่ที่หายเหนื่อยแล้ว
ประวัติศาสตร์
ประวัติศาสตร์ของเทศกาลนี้มีอายุยาวนานเกือบ 800 ปีในยุคที่ยังมีพระสงฆ์ชื่อว่าโชะอิจิ โกะกุชิ ยุคนั้นเกิดโรคระบาดขึ้นทั่วเมืองและโกะกุชิ พระสงฆ์รูปนั้นได้ขึ้นเวทีที่แห่ไปรอบเมือง สวดมนตร์ และโปรยน้ำศักดิ์สิทธิ์เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรคระบาด พิธีทางศาสนานี้จัดขึ้นทุกปีโดยผู้คนชาวฮากาตะ เพื่อป้องกันไม่ให้โรคร้ายกลับมา ซึ่งพิธีนี้ได้ค่อย ๆ พัฒนากลายเป็นเทศกาลยามากาสะในปัจจุบัน
เส้นทางการแข่งขัน
จุดเริ่มต้นเส้นทางการแข่งขันหลักจะอยู่ข้างศาลเจ้าคุชิดะจิงจะและเส้นชัยจะอยู่หลังพิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชียฟุกุโอกะ เส้นทางจะคดเคี้ยวไปตามถนนฮากาตะ โดยหัวมุมจะเป็นจุดสำคัญในการแข่งขัน เนื่องจากขบวนรถที่หนักจะเอนไปมาตามคนที่พยายามรักษาสมดุลรอบ ๆ โค้งแคบ ๆ
ผู้ชมจะสาดน้ำให้ผู้เข้าร่วมเพื่อให้ความสดชื่นขณะที่พวกเขากำลังวิ่งอยู่ ขบวนรถจะโซเซไปมาและออกจากศาลเจ้าคุชิดะจิงจะทุก ๆ ห้านาที โดยการแข่งขันจะสิ้นสุดที่ 6 นาฬิกา
ประเพณีที่น่าสนใจ
ผู้เข้าร่วมและผู้อยู่อาศัยในฮากาตะ จะไม่รับประทานแตงกวาในช่วงเทศกาลเนื่องจากภาพตัดขวางของแตงกวาดูเหมือนตราสัญลักษณ์ของเทพแห่งเทศกาล กิองซะมะ ซึ่งสถิตอยู่ที่ศาลเจ้าคุชิดะจิงจะ
Photograph(s) provided by Fukuoka City