อาคารทางพุทธศาสนาในบริเวณวัดโฮริวจิ (ยูเนสโก) Explore the world's oldest wooden buildings with Horyuji Temple at its center
สำรวจอิคารุกะ (ตะวันตกเฉียงเหนือของจังหวัดนารา) บริเวณที่มีอาคารโบราณทางประวัติศาสตร์ด้านวัฒนธรรมพุทธศาสนาหลงเหลืออยู่
อิคารุกะเป็นแหล่งสำคัญของโครงสร้างและอาคารไม้ที่มีอายุยาวนานมากมาย รวมถึงอาคารที่เก่าแก่ที่สุดในโลกบางหลังยังคงหลงเหลืออยู่ที่วัดโฮริวจิและวัดโฮคิจิ และพื้นที่แห่งนี้ยังเป็นแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมที่แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงกระบวนการและรูปแบบทางสถาปัตยกรรมผ่านประวัติศาสตร์ของวัดในพุทธศาสนาของญี่ปุ่น
ไฮไลท์
- สิ่งล้ำค้าทางพุทธศาสนารวมถึงพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรคุดาระทำจากไม้ (พุทธปฏิมากรรมที่เป็นตัวแทนของวัฒนธรรมอาสุกะ) ประดิษฐานอยู่ที่วิหารคุดาระ-คันนงภายในไดโฮโซอิน (ห้องจัดแสดงสมบัติล้ำค่า)
- สำรวจพื้นที่จุดกำเนิดของวัฒนธรรมอาสุกะซึ่งเป็นวัฒนธรรมพุทธศาสนาเริ่มแรกของญี่ปุ่นที่รุ่งเรืองในรัชสมัยของจักรพรรดินีซุอิโกะ
- ทัศนียภาพที่เปิดกว้างของเมืองนารามอบเสน่ห์ที่แตกต่างจากทิวทัศน์ของเมืองที่แคบกว่าของเกียวโต
วัดต่างๆถูกสร้างขึ้นผ่านยุคสมัยต่างๆของประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น
พุทธศาสนาแพร่เข้าสู่ญี่ปุ่นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 6 โดยผ่านประเทศจีน หลังจากนั้นวัดที่เคารพระบบความเชื่อและคำสอนของพุทธศาสนาได้ถูกสร้างขึ้นทั่วญี่ปุ่น ซึ่งวัดที่เก่าแก่ที่สุดบางแห่งยังคงหลงเหลืออยู่ภายในอาณาเขตโดยรอบของวัดโฮริวจิ เช่น วิหารหลักคนโด เจดีย์ห้าชั้น ประตูกลาง และทางเดินในร่ม ซึ่งสร้างขึ้นในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 7 และต้นคริสต์ศตวรรษที่ 8 ล้วนแล้วแต่เป็นอาคารและโครงสร้างไม้ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก โดยโครงสร้างและอาคารทั้งหมด 19 แห่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสมบัติของชาติ
อาณาเขตของวัดโฮริวจิแบ่งออกเป็นบริเวณตะวันตกและตะวันออก ซึ่งมีวัดย่อยหลายวัดสร้างอยู่โดยรอบตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 11 ถึง 17 หรือ 18 ทำให้มีอาคารของวัดและอนุสรณ์สถานต่างๆมากมายรวมตัวกันทั่วบริเวณ และแผ่ขยายพื้นที่ออกไปตามช่วงเวลา ดังนั้นจึงเป็นโอกาสอันดีที่จะสำรวจการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบสถาปัตยกรรมและรูปแบบการใช้อาคารของวัดญี่ปุ่นเหล่านี้

วัดของญี่ปุ่นแห่งแรกที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก
เนื่องจากเป็นพื้นที่เก็บรักษาแหล่งวัฒนธรรมทางพุทธศาสนาของโลก ทำให้อาณาเขตโดยรอบวัดโฮริวจิได้รับเลือกให้เป็นสถานที่แรกที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยองค์การยูเนสโกในปี ค.ศ. 1993 พร้อมกับวัดโฮคิจิ โดยมีอาคารสำคัญโดยรอบพื้นที่และสมบัติของชาติจำนวนมากถูกเก็บรักษาอยู่ภายในพื้นที่ของวัดโฮริวจิ แสดงให้เห็นถึงบทบาทและอิทธิพลของพุทธศาสนาต่อประเทศญี่ปุ่น
วัดโฮคิจิถูกสร้างขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 7 แต่ในปัจจุบันหลงเหลือแต่เพียงเจดีย์สามชั้นที่สร้างเสร็จในปีค.ศ. 706 เช่นเดียวกับพื้นที่ไซอินบริเวณฝั่งตะวันตกของวัดโฮริวจิ วัดโฮคิจิมีรูปแบบสถาปัตยกรรมที่นิยมสร้างโดยทั่วไปในช่วงต้นของการก่อสร้างอาคารทางพระพุทธศาสนา


กลุ่มอาคารต่างๆโดยรอบวัดโฮริวจิกล่าวกันว่าเป็นอาคารทางพุทธศาสนายุคเริ่มแรกของญี่ปุ่น โดยย้อนกลับไปในยุคหลังจากที่พระพุทธศาสนาได้เข้ามายังญี่ปุ่นผ่านประเทศจีนได้ไม่นาน ซึ่งอิทธิพลที่ปรากฏอยู่บนสถาปัตยกรรมโดยรอบเหล่านี้ยังคงหลงเหลืออยู่จนถึงปัจจุบัน
วัดที่ยังคงรักษาการปฏิบัติศาสนกิจมาตั้งแต่ยุคเริ่มก่อตั้งวัดในคริสต์ศตวรรษที่ 7
ตั้งแต่ยุคเริ่มก่อตั้งวัดในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 7 วัดโฮริวจิยังคงสืบต่อการปฏิบัติศาสนกิจโดยมีการประกอบพิธีกรรมในพื้นที่วัดสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน
วัดโฮริวจิสร้างโดยจักรพรรดินีซุอิโกะและเจ้าชายโชโตคุซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จักรพรรดินีและผู้สนับสนุนพระพุทธศาสนาในญี่ปุ่น วัดแห่งนี้จึงได้รับการปกป้องและสนับสนุนจากสมาชิกราชวงศ์และผู้มีอำนาจในยุคสมัยต่างๆ
ถึงแม้ว่าจะมีคำกล่าวว่าอาคารเริ่มแรกของวัดโฮริวจิได้ถูกทำลายโดยเหตุการณ์ไฟไหม้ในปี ค.ศ. 670 แต่ได้มีการก่อสร้างใหม่เกือบจะทันทีหลังจากนั้นและดำเนินการต่อเนื่องมาจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 8 ในปัจจุบันโครงสร้างในยุคเริ่มแรกบางแห่งยังคงหลงเหลืออยู่บริเวณใต้ดิน โดยอยู่ห่างไปไม่ไกลทางด้านตะวันออกเฉียงใต้จากบริเวณไซอินฝั่งตะวันตก
วิธีเดินทาง
จากสถานีเจอาร์โอซากา ขึ้นรถไฟสายยามาโทจิบนโอซากาลูปไลน์ และลงที่สถานทีเจอาร์โฮริวจิ และเดินเท้าจากสถานีประมาณ 20 นาที หรือนั่งรถบัสมุ่งหน้าไปโฮริว-จิ ซันโด และลงที่ป้ายโฮริว-จิ ซันโด
จากสถานีเจอาร์เกียวโต ขึ้นรถไฟสายนาราของสายยามาโทจิ และลงที่สถานีเจอาร์โฮริวจิ และจากสถานีสามารถเดินทางไปวัดโฮริวจิได้โดยการเดินเท้าหรือใช้รถบัส
จากสถานีคินเททสึ เกียวโต ขึ้นสายคินเททสึ เกียวโต/คาชิฮาระ และลงที่สถานีคินเททสึ ทสึทสึ จากนั้นนั่งรถบัสไปทางสถานีเจอาร์โอจิ และลงที่ป้ายโฮริวจิ-มาเอะ