โนงะคุ (โน และ เคียวเก็ง) และโรงละครหุ่นกระบอกบุงระกู ได้สร้างรูปแบบการแสดงที่สำคัญในโรงละครญี่ปุ่น
โรงละครญี่ปุ่นแบบดั้งเดิมเป็นการผสมผสานระหว่างการเต้นรำ การเล่นละคร และดนตรีประกอบที่มีสีสันและชวนหลงใหล ศิลปะเหล่านี้มีอายุยาวนานกว่าหลายศตวรรษและยังได้รับการยอมรับให้เป็นมรดกภูมิปัญญาทางด้านวัฒนธรรมของมนุษยชาติโดยองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ โรงละครกว่าร้อยแห่งทั่วประเทศยังคงมีการแสดงอยู่ถึงทุกวันนี้
ในปี ค.ศ. 2008 คาบูกิ โนงะคุ (โน และ เคียวเก็ง) และโรงละครหุ่นกระบอกบุงระคุ กลายเป็นศิลปะการแสดงญี่ปุ่นชุดแรกที่ได้รับการขึ้นทะเบียนในรายการของยูเนสโก ซึ่งเป็นการเน้นย้ำถึงความสำคัญของละครเหล่านี้ต่อมรดกและประวัติศิลปะการแสดงของญี่ปุ่น
คาบูกิคืออะไร
คาบูกิเป็นละครที่นิยมที่สุดของละครญี่ปุ่น ซึ่งละครนี้เกิดขึ้นช่วงต้นศตวรรษที่ 17 ในเกียวโต โดยมีตำนานว่ากันว่ามิโกะในศาลเจ้าใหญ่อิซุโมะ โนะ โอะกุนิ แห่งเกียวโตได้เป็นผู้ริเริ่มแสดงละครเต้นรำแบบใหม่ การแสดงนั้นได้ดึงดูดความสนใจของราชสำนัก ซึ่งในภายหลังเธอได้รับการเชิญให้มาแสดงละคร
หลังจากละครกลายเป็นที่พอใจในราชสำนัก คณะนักแสดงคู่แข่งก็ได้ปรากฏขึ้นมาและคาบูกิก็วิวัฒนากลายเป็นการแสดงหญิงที่ผสมผสานการเต้นรำและการละคร ไม่นานนัก คาบูกิก็ได้แพร่กระจายไปทั่วเอโดะที่กลายเป็นโตเกียวในอนาคต ละครคาบูกิได้รับความนิยม เนื่องจากละครจะเต็มไปด้วยชุดแฟชั่น การแต่งตัว และการบันเทิงที่แสนแปลกใหม่
อย่างไรก็ตาม ก่อนสิ้นศตวรรษ ผู้หญิงถูกสั่งห้ามไม่ให้เข้าร่วมการแสดงและบทบาททั้งหมดในละครก็ได้ตกเป็นหน้าที่ของผู้ชาย โดยชายที่รับบทบาทเป็นตัวละครหญิงจะเรียกกันว่า “อนนะกะตะ”
'ยุคทอง' ของคาบูกิ
โครงสร้างและรูปแบบของคาบุกิได้กลายเป็นรูปแบบที่เป็นทางการและประเภทของตัวละครเริ่มเป็นที่ยอมรับมากขึ้นตั้งแต่สมัยเอโดะตอนต้น (ค.ศ. 1600) จนถึงปัจจุบัน
โครงเรื่องของคาบูกิได้รับแรงบันดาลใจจากเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ และความขัดแย้งทางศีลธรรมในเรื่องของความสัมพันธ์ นักแสดงจะพูดเป็นโทนเสียงเดียวประกอบกับเสียงดนตรี ซึ่งบางคนมีแฟน ๆ เหมือนกับเป็นดาราดังในประเทศตะวันตก
ในเมืองใหญ่ของญี่ปุ่นจะมีสถานที่แสดงคาบูกิโดยเฉพาะ เช่น คะบุกิซะ และโรงละครแห่งชาติ ในโตเกียวและโรงละครมินะมิซะในเมืองหลวงเก่าแห่งเกียวโต สถานที่จัดแสดงหลักจะมีหน้าจอหรืออุปกรณ์แสดงข้อมูลที่อธิบายเนื้อเรื่องและคำบรรยายเป็นภาษาอังกฤษ
การแสดงหุ่นกระบอก
บุงระกูหรือละครหุ่นกระบอกญี่ปุ่นถือเป็นหนึ่งในศาสตร์ศิลปะการแสดงที่มีความปราณีตที่สุดในโลก โดยมีนักเชิดหุ่นสามคนเชิดหุ่นตัวละครตัวเดียว
การเคลื่อนไหวที่ลึกซึ้งเหมือนมีชีวิต ความกลมกลืนอย่างสมบูรณ์แบบระหว่างท่าทางต่าง ๆ ของหุ่น คำบรรยายของนักเล่าเรื่อง และเสียงดนตรีองค์ประกอบทั้งหลายนี้ล้วนใช้เวลาฝึกฝนขัดเกลามานานหลายรุ่นกว่าจะมีความสมบูรณ์แบบ
บุงระกูเริ่มแสดงครั้งแรกในโอซาก้าเมื่อปี ค.ศ. 1684 ในการแสดงเหล่านี้ ผู้เชิดหุ่นคนหนึ่งจะเชิดขา คนหนึ่งจะเชิดแขนซ้าย และผู้นำเชิดหุ่นจะเชิดหัว ใบหน้า และแขนขวาของตัวละครหลักตัวหนึ่ง ในโลกของบุงระกู ผู้เชิดจำเป็นต้องฝึกฝนอย่างหนักนานนับห้าสิบปีเพื่อทำให้ขาหุ่นเคลื่อนไหวได้เหมือนมนุษย์และอีกห้าสิบปีเพื่อทำให้แขนซ้ายหุ่นขยับได้อย่างมีชีวิตชีวา หลังจากนั้น ผู้เชิดหุ่นจึงสามารถลองเชิดส่วนหัวได้
ในการแสดงจะประกอบไปด้วยผู้หุ่นเชิดที่มักปรากฏบนเวทีในชุดพรางตัวสีดำ “ทะยู” ผู้พากย์เสียงตัวละครทั้งหมดในการแสดงและบรรยายเนื้อเรื่อง และสุดท้ายคือเพลงที่มีความสำคัญไม่แพ้กันของการแสดง โดยมีนักเล่น “ชะมิเซ็น” ประกอบกับวงออร์เคสตราขลุ่ย “ชะกุฮะจิ” เครื่องสาย “โคะโตะ” และบางโอกาสก็จะมีกลอง “ไทโกะ” ด้วย
โรงละครบุงระกูแห่งชาติในโอซาก้าและโรงละครแห่งชาติของโตเกียวเป็นสถานที่ที่สะดวกสำหรับผู้เข้าชมชาวต่างชาติ เนื่องจากในโรงละครจะมีมีออดิโอไกด์แปลบทพูดและเนื้อร้องเป็นภาษาต่าง ๆ สำหรับการแสดงที่เลือก
โนและเคียวเก็ง
ศิลปะการแสดงของโนและเคียวเก็งมีความเข้ากันได้ดี
โนเป็นละครญี่ปุ่นที่เก่าแก่ที่สุด โดยชื่อละครแบบนี้มีที่มาจากคำว่า "ทักษะ" หรือ "พรสวรรค์" ละครนี้เป็นรูปแบบการแสดงที่เข้มงวดขึ้น โดยนักแสดงหลักจะสวมหน้ากากเพื่อช่วยถ่ายทอดเรื่องราว ละครโนยังมีการบรรเลงดนตรีที่มีระดับสูง ในตอนแรก ละครเคียวเก็งจะใช้เล่นคั่นละครโน โดยเป็นละครที่มีบทพูดมากขึ้นและเน้นการแสดงตลก ละครทั้งสองประเภทนี้จะปรากฎในโรงละครโนะงะกู
ละครโนมีประวัติยืนยาวตั้งแต่ศตวรรษที่ 8 แต่รูปแบบละครในปัจจุบันได้รับการพัฒนาในศตวรรษที่ 14 โดยนักแสดงและนักเขียนบทชื่อคันนะมิและลูกชายของเขาชื่อเซะอะมิ บทละครหลายเรื่องที่ทั้งสองเขียนไว้ยังคงเป็นส่วนสำคัญของบทละครประมาณ 250 เรื่องของการแสดงละครโน
โนมีความรุ่งเรืองขึ้นในช่วงก่อนและระหว่างยุคเอโดะ (ค.ศ. 1603 - 1867) เพราะเป็นที่นิยมในหมู่ขุนนางยุคกลางทั่วประเทศซึ่งคอยสนับสนุนคณะแสดงของตนเองและศึกษาศิลปะการแสดงด้วยความสนใจส่วนตัว ความนิยมของละครโนถดถอยลงในช่วงเริ่มยุคเมจิ (ค.ศ. 1868 - 1912) แต่นักแสดงส่วนหนึ่งก็ยังคงมีผู้อุปถัมภ์ส่วนตัวที่คอยค้ำจุน ซึ่งทำให้ศิลปะการแสดงยังคงอยู่รอดได้ ในปัจจุบัน ละครนี้ได้รับการยอมรับในฐานะส่วนสำคัญของมรดกแห่งชาติญี่ปุ่นและกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง
การแสดงละครโนมีอยู่ห้าประเภท ได้แก่ เทพเจ้า นักรบ หญิงสาวงาม สิ่งมีชีวิตทั่วไปและปีศาจ ตามประเพณีแล้ว รายการละครโนแบบเต็มวันจะเริ่มต้นโดยการเล่าเรื่องราวโอะกินะซังบะโซะ ต่อด้วยการแสดงละครโนแต่ละประเภทประกอบกับการแสดงเคียวเก็งคั่นแต่ละเรื่องราว
การแสดงละครโนใช้เวลานานมาก ๆ และบางครั้งก็มีการแสดงละครกลางแจ้งในช่วงฤดูร้อน โรงละครโนแห่งชาติ ของโตเกียวและโรงละครที่คล้ายกันในนาโกย่าและโอซาก้าจะมีการจัดแสดงเป็นประจำ โดยส่วนหนึ่งจะมีบทแปล และแต่ละสำนักที่แสดงละครโนจะมีสถานที่จัดแสดงถาวรของตัวเองในเกียวโตและนาราด้วย โรงละครประจำจังหวัดและเทศบาลเองก็มีการจัดแสดงอยู่ทั่วประเทศ แต่มีเพียงไม่กี่แห่งที่ให้บทแปลสำหรับชาวต่างชาติ
ศิลปะการแสดงอื่น ๆ
เกอิชาและเกอิชาฝึกหัดที่เรียกว่าไมโกะจะจัดการบรรเลงดนตรีและการเต้นรำที่ร้านน้ำชาหรือในสถานที่เฉพาะทาง เช่น กิองฮาตานากะในเขตกิอง ในเกียวโต รวมถึงงานอีเวนต์สาธารณะในช่วงเวลาต่าง ๆ ของปี การแสดงดนตรีราชสำนัก “กะงะกู” ก็สามารถชมได้ที่โรงละครแห่งชาติในโตเกียวหรือในช่วงพิธีกรรมที่วัดหรือศาลเจ้า
ละครญี่ปุ่นสมัยใหม่ได้รับความนิยมในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 1900 รวมถึงละคร "ชิงเกกิ" อันเป็นการเลียนแบบละครตะวันตก ในภายหลังสงครามโลก การแสดงมีความซับซ้อนมากขึ้น โดยการผสมผสานหลักการแสดงละครโนหรือคาบูกิสุดคลาสสิกกับการแสดงตะวันตกที่มีความร่วมสมัย
ข้อมูลทั้งหมดถูกต้อง เดือนมีนาคม ค.ศ. 2019
ข้อมูลอาจมีการเปลี่ยนแปลง กรุณาตรวจสอบข้อมูลกับเวบไซต์อย่างเป็นทางการ
* ข้อมูลต่างๆ บนเวบไซต์ อาจมีการเปลี่ยนแปลงสืบเนื่องจากสถานการณ์ COVID-19