HOME Back

Use the

Planning a Trip to Japan?

Share your travel photos with us by hashtagging your images with #visitjapanjp

10 ราเม็งทั่วประเทศญี่ปุ่น

ราเม็งญี่ปุ่นราคาย่อมเยา สะดวก ทานเพลิน และที่สำคัญที่สุดคืออร่อย

 

เมื่อพูดถึงอาหารญี่ปุ่น อาหารประเภทหนึ่งที่ไม่พูดถึงไม่ได้ คือ ราเม็ง สำหรับประเทศญี่ปุ่นเอง แต่ละภูมิภาค จะมีสูตรราเม็งเป็นของตัวเอง และมีรสชาติที่โดดเด่นแตกตางกันออกไปทั้งความอร่อยลงตัวของเส้น น้ำซุปแบบต่าง ๆ และเครื่องเคียง ที่แต่ละร้านมีเอกลักษณ์ไม่เหมือนกัน

ส่วนประกอบหลักของราเม็งได้แก่

น้ำซุป ที่เป็นตัวชูโรงของราเม็งแต่ละชาม โดยส่วนใหญ่จะทำจากกระดูกหมู หรือกระดูกไก่นำมาเคี้ยวเป็นเวลาหลายชั่วโมง หรือเป็นวันจนได้รสที่กลมกล่อม แต่ละประเภทราเม็งจะใช้เครื่องปรุงที่แตกต่างกันออกไปเช่น เกลือ โชยุ มิโซะ หรือน้ำมันพริกเพื่อดึงเอารสชาติวัตถุดิบให้ออกมาอย่างเต็มที่ หรือบางร้านอาจตุ๋นผักลงไปเพิ่มเพื่อทำให้น้ำซุปมีความหวานหอมเป็นเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง

เส้นราเม็ง ประเทศญี่ปุ่นจะใช้เส้นราเม็งอยู่ 2 ประเภทหลัก ๆ ได้แก่เส้นราเม็งแบบตรง จะมีลักษณะเส้นที่เล็ก และบางและเส้นราเม็งแบบหยักที่เรียกว่าชิจิเระเม็ง จะมีลักษณะอวบเล็กน้อย ให้ความเหนียวนุ่ม ทั้งนี้ความหนาบางของเส้นแต่ละชนิดก็ขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่

เครื่องเคียง เครื่องเคียงของราเม็งมีหลากหลายขึ้นอยู่กับประเภทของซุปราเม็งนั้น ๆ เช่นหมูชาชู ไก่ชาชู เนื้อปลา หน่อไม้ ต้นหอมซอย ไข่ต้มยางมะตูน ข้าวโพด ผักกะหล่ำ ลูกชิ้นปลาคามาโบโกะ (Kamaboko) สาหร่ายแผ่นเป็นต้น เพื่อชูรสให้ราเม็งแต่ละชามมีรสชาติที่อร่อย

ประเภทราเม็งโดยทั่วไป

1. โชยุราเม็ง (Shoyu Ramen) เป็นราเม็งน้ำซุปสีน้ำตาลใสปรุงรสด้วยซีอิ้ว ตัวน้ำซุปมักทำจากกระดูกไก่ หรือกระดูกหมูขึ้นอยู่กับภูมิภาค นับเป็นราเม็งแบบพื้นฐานที่มีประวัติศาสตร์มายาวนาน

2. ชิโอะราเม็ง (Shio Ramen) เป็นราเม็งน้ำซุปใสปรุงรสด้วยเกลือ โดยส่วนใหญ่เบสน้ำซุปจะทำจากกระดูกไก่นำมาเคี้ยวไม่นานมาก ทำให้ได้น้ำซุปที่ใส ซดแล้วคล่องคอ

3. มิโซะราเม็ง (Miso Ramen) เป็นราเม็งปรุงรสด้วยมิโซะ หรือเต้าเจี้ยวแบบญี่ปุ่นให้รสชาติที่เข้มข้น และมีสีออกน้ำตาล ต้นกำเนิดมาจากภูมิภาคฮอกไกโด (Hokkaido) และปัจจุบันได้เป็นที่นิยมทั่วประเทศญี่ปุ่น

4. ทงคตสึราเม็ง (Tonkotsu Ramen) เป็นราเม็งที่ได้จากการเคี้ยวกระดูกหมูเป็นเวลานานจนน้ำซุปมีความเข้มข้น และสีขาวขุ่น ด้านบนจะลอยด้วยน้ำมันหมู และมีกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ ได้รับความนิยมเป็นพิเศษแถบภูมิภาคคิวชู (Kyushu)

5. เกียวไคเคราเม็ง (Gyokai Kei Ramen) เป็นราเมงน้ำซุปซีฟู้ด ที่ได้จากการต้มกระดูกหมูผสมกับเนื้อปลา และดาชิ ที่ทำจากปลาโอแห้ง และสาหร่ายคอมบุ

6. ทสึเคะเม็ง (Tsukemen) เป็นราเม็งประเภทแยกเส้น และแยกน้ำซุป น้ำซุปจะมีความเข้มข้นกว่าปกติไม่สามารถยดซดเปล่า ๆ ได้ จะต้องใช้เส้นขนาดใหญ่ในการจุ่มลงในน้ำซุปแล้วทาน

ครั้งนี้จะมาแนะนำ 10 ราเม็งจากทั่วภูมิภาค ว่ามีราเม็งแบบไหนที่ควรจะหาโอกาสลองชิมสักครั้ง

 

ภูมิภาคฮอกไกโด (Hokkaido)

มิโซะ บัตเตอร์ ราเม็ง (Miso Butter Ramen)


 

มิโซะ บัตเตอร์ ราเม็ง (Miso Butter Ramen) รสกลมกล่อมด้วยเนยที่ลอยอยู่ด้านบน

 

มิโซะ บัตเตอร์ ราเม็ง (Miso Butter Ramen) เป็นราเม็งขึ้นชื่อของฮอกไกโด (Hokkaido) น้ำซุปราเม็งทำมาจากมิโซะ หรือเต้าเจี้ยว ผสมกับซุปกระดูกหมูที่เคี้ยวได้ที่ และน้ำมันหมู หรือไก่ ให้รสชาติที่กลมกล่อมเข้มข้น พร้อมกับใช้เส้นราเม็งแบบ ชิจิเระเม็ง (Chichire men) ซึ่งเป็นเส้นแบบหยัก เวลาทานจะรู้สึกได้ถึงรสสัมผัสที่เหนียวนุ่ม สำหรับเครื่องเคียงที่เสิร์ฟคู่มาในจานได้แก่ หมูชาชูที่เลี้ยงบนเกาะฮอกไกโด ข้าวโพด เนย หน่อไม้ ต้นหอมซอย ไข่ต้ม เป็นต้น

 

ต้นกำเนิดมิโซะ บัตเตอร์ ราเม็ง (Miso Butter Ramen)

มิโซะ บัตเตอร์ ราเม็ง (Miso Butter Ramen) มีต้นกำเนิดมาจากเมืองซัปโปโร (Sapporo) ถูกรังสรรค์ขึ้นเป็นที่แรกโดยร้าน Aji no Sanpei เมื่อปีค.ศ. 1955 ภายหลังราเม็งมิโซะได้มีการพัฒนาสูตร ดึงเอาความเป็นเอกลักษณ์ของของจังหวัดฮอกไกโดอย่าง ผลิตภัณฑ์ประเภทนม เนย มาจับรวมไว้ในจานได้อย่างลงตัว มีการใส่ข้าวโพด และเนยลงลงไปเป็นท้อปปิ้ง ช่วยชูรสให้น้ำซุปมีรสชาติหวานมันติดปลายลิ้นเล็กน้อย รสชาติตอบโจทย์นักท่องเที่ยว และคนในท้องถิ่นจนได้ขนานนามว่าเป็นเมนูประจำเกาะฮอกไกโดที่เรียกได้ว่ามาแล้วต้องลองชิม

 

จุดเด่น

・เบสน้ำซุปทำจากมิโสะ
・ท้อปปิ้งด้วยเนย และข้าวโพดที่ด้านบนให้รสชาติกลมกล่อมหอมมัน

 

ฮาโกะดาเตะ ชิโอะบุริดาชิ ราเม็ง (Hakodate Shio Buridashi Ramen)


 

ฮาโกะดาเตะ ชิโอะบุริดาชิ ราเม็ง (Hakodate Shio Buridashi Ramen) ที่ใช้ปลาบุริตากแห้ง (Buribushi) เป็นท้อปปิ้ง /©️pr time

 

หากพูดถึงราเม็งซุปเกลือ คนส่วนใหญ่จะคุ้นเคยกับน้ำซุปดาชิ ที่ได้จากการต้มคัตสึโอะบุชิ (Katsuobushi) หรือปลาคัตสึโอะตากแห้ง ซึ่งแตกต่างกับฮาโกะดาเตะ ชิโอะบุริดาชิ ราเม็ง (Hakodate Shio Buridashi Ramen) เป็นราเม็งซุปเกลือที่ขึ้นชื่อของเมืองฮาโกะดาเตะ (Hakodate) ได้จากการเคี้ยวกระดูกปลาบุริ (โครงกระดูกที่ติดเศษเนื้อ), เนื้อหมูเนื้อไก่บด และมะเขือเทศ ทำให้ตัวน้ำซุปใส ปรุงรสด้วยซอสโชยุ (สีอ่อน) และเกลือ เพียง 2 อย่างเท่านั้น เพื่อดึงเอารสชาติที่แท้จริงของวัตถุดิบออกมาให้โดดเด่นมากที่สุด สำหรับเครื่องเคียงที่เสิร์ฟคู่มาในจานด้วยปลาบุริตากแห้ง (Buribushi) และเนื้อปลาบุริย่างที่มีรสชาติที่กลมกล่อม

 

ต้นกำเนิดฮาโกะดาเตะ ชิโอะบุริดาชิ ราเม็ง (Hakodate Shio Buridashi Ramen)

สาเหตุที่นำปลาบุริมาใช้เป็นตัวชูโรงของจานนี้เป็นเพราะว่าต้องการให้ปลาบุริเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น เนื่องจากปกติปลาบุริจะจับได้มากที่สุดทางตอนใต้ของประเทศ ทางคณะกรรมการบริหารชายฝั่งทะเลฮาโกะดาเตะจึงได้ริเริ่มนำเอาปลาบุริมาตากแห้ง และทำให้เป็นบุริบุชิ (Buribushi) แทนการใช้ปลาคัตสึโอะบุชิ (Katsuobushi) และนำมารังสรรค์คู่กันกับราเม็งซุปเกลือที่เป็นเมนูเด่นประจำเมืองจนเกิดเป็นฮาโกะดาเตะ ชิโอะบุริดาชิ ราเม็ง (Hakodate Shio Buridashi Ramen) ที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน

 

จุดเด่น

・เบสน้ำซุปทำจากเกลือ
・ท้อปปิ้งด้วยปลาบุริตากแห้ง (Buribushi) และมีเนื้อปลาบุริย่าง

 

ภูมิภาคโทโฮคุ (Tohoku)

คิตะคะตะ ราเม็ง (Kitakata Ramen)


 

คิตะคะตะ ราเม็ง (Kitakata Ramen) ซุปโชยุ เสิร์ฟพร้อมหมูชาชูเต็มชาม /©️pr time

 

คิตะคะตะ ราเม็ง (Kitakata Ramen) เป็นราเม็งที่ขึ้นชื่อของเมืองคิตะคะตะ (Kitakata) ในจังหวัดฟุกุชิมะ (Fukushima) และติดอันดับ 1 ใน 3 สุดยอดราเม็งของประเทศญี่ปุ่น มีต้นกำเนิดเมื่อ 100 ปีที่แล้ว มีการใช้เส้นโซบะแบบจีน แต่ก็ยังไม่เป็นที่นิยมมากนัก จนได้มีการพัฒนาสูตรใช้เส้นราเม็งที่แบน หยัก และหนานุ่ม ตัวน้ำซุปได้จากการเคี้ยวปลา และกระดูกหมู ปรุงรสด้วยโชยุที่ทำจากวัตถุดิบในเมืองคิตะคะตะ (Kitakata) สำหรับเครื่องเคียงที่เสิร์ฟคู่มาในจานด้วยหมูชาชูชิ้นโตที่ตุ๋นจนนุ่มกำลังดี หน่อไม้ ต้นหอมซอย และลูกชิ้นปลาคามาโบโกะ (Kamaboko)

ความพิเศษของคิตะคะตะ ราเม็ง (Kitakata Ramen) อีกหนึ่งอย่างคือ ร้านราเมนส่วนใหญ่จะเปิดให้บริการตั้งแต่เช้า 6:30 น. เนื่องจากคนท้องถิ่นนิยมทานคิตะคะตะ ราเม็ง (Kitakata Ramen) กันตั้งแต่เช้าตรู่ จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า อะซะ รา (Asa-Ra) มาจากคำว่า อะซะ (Asa) ที่แปลว่าเช้า และ รา (Ra) ย่อมาจากคำว่าราเม็ง เพราะด้วยความที่น้ำซุปเป็นน้ำซุปโชยุใส ไม่มีไขมันหมูลอยอยู่ด้านบน จึงสามารถซดได้คล่องคอ และอีกเหตุผลหนึ่งที่ต้องเปิดร้านในช่วงเช้า เป็นเพราะ ช่วงเวลาการทำงานของคนในพื้นที่ ทั้งพนักงานที่ทำงานโรงงานกะดึกเลิกงานเช้าตรู่ หรือเกษตรกรที่ตื่นแต่เช้าเพื่อทำสวน หรือแม้กระทั้งคนที่เดินทางกลับบ้านเกิดด้วยรถไฟรอบดึก และถึงตอนเช้า ทำให้ผู้คนที่นี่นิยมกินราเม็งกันตั้งแต่เช้าตรู่

 

ต้นกำเนิดคิตะคะตะ ราเม็ง (Kitakata Ramen)

เมืองคิตะคะตะ (Kitakata) เป็นเมืองแห่งโกดังเก็บโชยุ ทำให้คิตะคะตะ ราเม็ง (Kitakata Ramen) จะมีโชยุเป็นส่วนประกอบหลัก และนอกจากโชยุแล้ว ยังมีโกดังที่ไว้สำหรับเก็บสาเกด้วยเช่นกัน เพราะโดดเด่นในเรื่องของน้ำที่สะอาดบริสุทธิ์จากธรรมชาติ เหมาะแก่การนำไปทำโชยุ สาเก หรือน้ำซุป จึงกลายเป็นเมืองที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวต่างเดินทางมาลิ้มลองความอร่อยของสาเก

และเมื่อตระเวนชิมสาเกมาทั้งวันแล้ว ราเม็งจึงเป็นเมนูตอบโจทย์นักท่องเที่ยวเหล่านั้น ด้วยน้ำซุปร้อน ๆ หอมโชยุ และเส้นราเม็งแบบหยักที่เป็นเอกลักษณ์ ทำให้คิตะคะตะ ราเม็ง (Kitakata Ramen) กลายเป็นเมนูยอดนิยมประจำเมืองไปโดยปริยาย และปัจจุบันมีร้านขายคิตะคะตะ ราเม็ง (Kitakata Ramen) กระจายอยู่ทั่วเมืองมากถึง 120 ร้านให้ได้เลือกชิม โดยแต่ละร้านเป็นร้านที่เก่าแก่ และมีเอกลักษณ์แตกต่างกันออกไป

 

จุดเด่น

・เบสน้ำซุปทำจากโชยุ
・ท้อปปิ้งด้วยหมูชาชูชิ้นโต
・เส้นราเม็งเป็นเส้นแบน หยัก
・นิยมทานกันช่วงเช้าตั้งแต่ 6:30 น.

 

ภูมิภาคคันโต (Kanto)

ฮะจิโอจิ ราเม็ง (Hachioji Ramen)


 

ฮะจิโอจิ ราเม็ง (Hachioji Ramen) มีเอกลักษณ์อยู่ที่หัวหอมสับเพิ่มความหวานให้กับน้ำซุป

 

ฮะจิโอจิ ราเม็ง (Hachioji Ramen) เป็นราเม็งท้องถิ่นของเขตฮะจิโอจิ (Hachioji) ในโตเกียว (Tokyo) น้ำซุปทำมาจากกระดูกหมู และปลา ปรุงรสด้วยโชยุทำให้ได้เบสน้ำซุปที่ใส ทานง่าย ใช้ราเม็งเส้นเล็กแบบสไตล์จีน (Chukamen) สำหรับเครื่องเคียงที่เสิร์ฟคู่มาในจานด้วยหมูชาชู หน่อไม้ สาหร่ายแผ่น แต่เอกลักษณ์ไม่เหมือนใครอยู่ตรงที่หัวหอมสับที่ลอยอยู่เต็มชาม เมื่อรสชาติเผ็ดฉุนของหัวหอมมาเจอกับซอสโชยุ และไขมันที่ล่องลอยอยู่บนน้ำซุป จะช่วยเพิ่มความหวานให้กับน้ำซุปได้เป็นอย่างดี

 

ต้นกำเนิดฮะจิโอจิ ราเม็ง (Hachioji Ramen)

ฮะจิโอจิ ราเม็ง (Hachioji Ramen) มีมาตั้งแต่สมัยปีค.ศ. 1959 โดยเจ้าของร้านราเม็งแห่งหนึ่งได้เดินทางไปยังฮอกไกโด และทานราเม็งที่มีหัวหอมสับลอยเต็มชาม เขารู้สึกว่ารสสัมผัสของหัวหอมกรอบ ๆ ทานคู่กับราเม็งแล้วเข้ากันได้ดี แต่ความเผ็ดฉุนของหัวหอมยังคงทำให้ราเม็งชามนี้ทานได้ยาก จึงได้คิดค้นหากรรมวิธีที่จะทำให้เมนูนี้ทานง่ายขึ้น โดยการลองผิดลองถูกอยู่นาน ก็จึงรู้ว่าน้ำมันเป็นตัวช่วยทำปฏิกิริยาให้หัวหอมมีรสชาติที่หวานขึ้น และพัฒนาสูตรจนกลายเป็นราเม็งของท้องถิ่นได้

 

จุดเด่น

・เบสน้ำซุปทำจากโชยุ
・ท้อปปิ้งด้วยหัวหอมสับที่ช่วยเพิ่มความหวานให้กับน้ำซุป

 

ภูมิภาคคันไซ (Kansai)

วากายามะ ราเม็ง (Wakayama Ramen)


 

วากายามะ ราเม็ง (Wakayama Ramen) ที่เสิร์ฟคู่กับฮายะซูชิ (Hayazushi) และไข่ต้ม

 

วากายามะ ราเม็ง (Wakayama Ramen) เป็นราเม็งขึ้นชื่อของจังหวัดวากายามะ (Wakayama) ที่ใช้เส้นแบบสไตล์จีน (Chukamen) สำหรับเครื่องเคียงที่เสิร์ฟคู่มาในจานด้วยหมูชาชู หน่อไม้ ต้นหอม และลูกชิ้นปลาคามาโบโกะ (Kamaboko) แต่ความพิเศษอยู่ที่การได้ทานราเม็งพร้อมกับฮายะซูชิ (Hayazushi) ซึ่งเป็นซูชิที่เป็นของขึ้นชื่อของจังหวัด ด้านในเป็นปลาซาบะ วางลงบนข้าวที่มีรสเปรี้ยวจากน้ำส้มสายชู ปั้นให้เป็นรูปสีเหลี่ยมผืนผ้า และห่อด้วยใบอะเสะ (Ase) หรือใบต้นกก มีขนาดเล็กพอดีคำ มักจะมีเสิร์ฟอยู่บนโต๊ะคู่กับไข่ต้ม ระหว่างที่ลูกค้ารอราเม็งมาเสิร์ฟ ก็สามารถทานได้ไม่อั้น

 

ต้นกำเนิดวากายามะ ราเม็ง (Wakayama Ramen)

วากายามะ ราเม็ง (Wakayama Ramen) ถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภทด้วยกัน เดิมทีเป็นราเม็งแบบซุปใส สไตล์จีน ที่ได้จากการต้มกระดูกหมู และปรุงรสด้วยโชยุ มีต้นกำเนิดมาจากร้านบะหมี่ที่ตั้งอยู่เรียงรายริมทางรถรางใจกลางจังหวัดวากายามะ (Wakayama) ในช่วงยุคหลังสงคราม และภายหลังได้ถือกำเนิดราเม็งซุปกระดูกหมูโชยุ ที่ได้จากการเคี่ยวกระดูกหมูจนได้ที่ พร้อมกับปรุงรสด้วยโชยุให้รสชาติที่กลมกล่อม ซึ่งราเม็งแบบซุปกระดูกหมูโชยุที่ว่านี้ เกิดจากความผิดพลาดของเจ้าของร้านที่ต้มกระดูกหมูนานเกินไปจนน้ำซุปขุ่น ทำให้รสชาติ กลิ่น และสีมีความข้นเป็นพิเศษ

 

จุดเด่น

・เบสน้ำซุปทำจากโชยุ และกระดูกหมู
・ท้อปปิ้งด้วยหมูชาชู หน่อไม้ ต้นหอม และลูกชิ้นปลาคามาโบโกะ (Kamaboko)
・นิยมทานคู่กับฮายะซูชิ (Hayazushi) และไข่ต้ม

 

เกียวโต โทริไพทัน ราเม็ง (Kyoto Toripaitan Ramen)


 

เมนู Gokkei Toridaku ราเม็งซุปไก่แบบเข้มข้นจากร้านเมนยะ กกเค (Menya Gokkei) มาพร้อมกับไก่ชาชูชิ้นใหญ่ /©️pr time

 

เกียวโต โทริไพทัน ราเม็ง (Kyoto Toripaitan Ramen) จากร้านเมนยะ กกเค (Menya Gokkei) เป็นราเม็งซุปกระดูกไก่ยอดนิยมของจังหวัดเกียวโต (Kyoto) ที่ได้จากการเคี่ยวจนน้ำซุปมีความเข้มข้น และเป็นสีขาวนวล สำหรับเครื่องเคียงที่เสิร์ฟคู่มาในจานด้วยไก่ชาชู ต้นหอมซอยพูน ๆ และหน่อไม้ชิ้นหนา แต่ความพิเศษคือสามารถเลือกระดับความเข้มข้นของซุปได้ มีตั้งแต่เมนู Toridaku ตัวซุปสีขาวข้นจากไก่ เมนู Akadaku เป็นน้ำซุปไก่เข้มข้นผสมผสานกับผงพริกชิจิมิที่คัดสรรพิเศษทำให้น้ำซุปกลายเป็นสีแดงฉาน และให้ความเผ็ดที่กลมกล่อมลงตัว เมนู Kurodaku เป็นน้ำซุปไก่ราดด้วยน้ำมันมายุ (Ma-yu) หรือน้ำมันกระเทียมย่างสีดำ ให้กลิ่นหอมเข้ากันกับน้ำซุปไก่ และเมนู Sakanadaku คล้ายกับเมนู Toridaku ที่เป็นซุปไก่แต่เสิร์ฟมาคู่กับเนื้อปลา

นอกจากนี้บางร้านจะก็นำเบสน้ำซุปไก่ ไปปรุงรสชาติให้มีความหลากหลาย ทั้งซุปไก่มิโซะ หรือซุปไก่กระดูกหมู หรือซุปไก่แกงกะหรี่ให้เลือก มักเสิร์ฟพร้อมไก่ชาชูชิ้นใหญ่พาดอยู่ขอบชาม ไก่สับทสึคุเนะ (Tsukune) และต้นหอมซอย สามารถทานได้ทั้งแบบทสึเคะเม็ง (Tsukemen) หรือแบบปกติก็ได้ ขึ้นอยู่กับเอกลักษณ์ของร้านนั้น ๆ ซึ่งในจังหวัดเกียวโต (Kyoto) จะมีร้านราเม็งซุปไก่เรียงรายกันหลายร้านให้เลือกทาน

 

ต้นกำเนิดโทริไพทัน ราเม็ง (Kyoto Toripaitan Ramen)

ว่ากันว่าโทริไพทัน ราเม็ง (Kyoto Toripaitan Ramen) มีต้นกำเนิดมาจากเมนูหม้อไฟข้าวต้มไก่ของฮากาตะ (Hakata Mizutaki Nabe) ซึ่งเป็นเมนูปิดท้ายเวลาดื่มสังสรรค์ของชาวญี่ปุ่น เมื่อกินเครื่องในหม้อไฟหมดแล้ว ก็จะนำเส้นราเม็งแบบสไตล์จีนลงไปใส่ในน้ำซุปไก่ และเมื่อได้รับความนิยมมากขึ้น จึงเกิดเป็นโทริไพทัน ราเม็ง (Kyoto Toripaitan Ramen) ในปัจจุบัน

 

จุดเด่น

・เบสน้ำซุปทำกระดูกไก่
・ท้อปปิ้งด้วยไก่ชาชูชิ้นใหญ่

 

ภูมิภาคชูโงะคุ (Chugoku)

ฮิโรชิมะ ทสึเคะเม็ง (Hiroshima Tsukemen)


 

ฮิโรชิมะ ทสึเคะเม็ง (Hiroshima Tsukemen) เป็นราเม็งรสชาติเผ็ดร้อนที่ทานแบบแยกเส้น และแยกน้ำ /©️pr time

 

ฮิโรชิมะ ทสึเคะเม็ง (Hiroshima Tsukemen) เป็นราเม็งที่เสิร์ฟแยกเส้นกับน้ำซุป ไม่ได้รวมกันอยู่ในชามเดียวเหมือนราเม็งทั่วไป เวลาทานจะต้องคีบเส้นเพื่อไปจุ่มในน้ำซุปก่อน ซึ่งน้ำซุปของฮิโรชิมะ ทสึเคะเม็ง (Hiroshima Tsukemen) จะทำจากซุปดาชิที่ได้จากการเคี่ยวปลา และปลาที่ใช้จะเป็นปลาที่ตกได้จากทะเลในเซะโตะ (Seto Inland Sea) ให้ความหวานติดปลายลิ้น ปรุงรสด้วยซอสโชยุ

จุดเด่นของชามนี้คือซุปโชยุจะผสมพริก น้ำมันพริกรายุ (Rayu) น้ำส้มสายชู และงาขาว เพื่อให้รสชาติที่จัดจ้านเข้มข้น ทานคู่กับเส้นราเม็งเย็น ขนาดใหญ่ เพื่อจะช่วยทำให้ดูดซับความชุ่มฉ่ำเข้มข้นของน้ำซุปได้เป็นอย่างดี เสิร์ฟพร้อมกับหมูชาชู ผักกะหล่ำลวก ไข่ต้ม แตงกว่าหั่นฝอย และต้นหอมซอย สำหรับใครที่ไม่ทานเผ็ด ก็สามารถเลือกระดับความเผ็ดของน้ำซุปได้

 

ต้นกำเนิดฮิโรชิมะ ทสึเคะเม็ง (Hiroshima Tsukemen)

ฮิโรชิมะ ทสึเคะเม็ง (Hiroshima Tsukemen) มีมาตั้งแต่สมัยปีค.ศ. 1954 โดยร้านอาหารจีนแห่งหนึ่งที่เปิดขึ้นในเมืองฮิโรชิมะ (Hiroshima) เดิมทีฮิโรชิมะ ทสึเคะเม็ง (Hiroshima Tsukemen) ถูกเสิร์ฟในชื่อบะหมี่เย็นเรเม็ง (Reimen) ที่ในขณะนั้นเป็นเมนูที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เนื่องจากมีการเสิร์ฟเส้นแยกกับน้ำซุปซึ่งมีลักษณะไม่ต่างอะไรกับบะหมี่เย็นเรเม็ง (Reimen) ตัวน้ำซุปจะผสมพริก น้ำส้มสายชู น้ำมันงา ภายหลังจึงถูกเรียกว่า ฮิโรชิมะ ทสึเคะเม็ง และได้รับความนิยมไปทั่วประเทศเมื่อปีค.ศ. 2001

 

จุดเด่น

・เบสน้ำซุปทำจากโชยุ ผสมพริก น้ำมันพริก น้ำส้มสายชู
・เส้นราเม็งจะเสิร์ฟแบบเย็น
・ทานแบบแยกเส้น แยกน้ำ

 

ภูมิภาคชิโกะคุ (Shikoku)

โคจิ นาเบะยากิ ราเม็ง (Kochi Nabeyaki Ramen)


 

โคจิ นาเบะยากิ ราเม็ง (Kochi Nabeyaki Ramen) เสิร์ฟมาในหม้อดินเผา /©️pr time

 

โคจิ นาเบะยากิ ราเม็ง (Kochi Nabeyaki Ramen) เป็นราเม็งขึ้นชื่อของจังหวัดโคจิ (Kochi) ตัวน้ำซุปทำมาจากกระดูกไก่เคี่ยวจนเข้มข้น ปรุงรสด้วยโชยุ ใช้เส้นบะหมี่ที่มีความเหนียวนุ่ม สู้ฟัน และสำหรับเครื่องเคียงที่เสิร์ฟคู่มาในจานด้วยปลาหมึกหลอด หรือชิคุวะ (Chikuwa) ไข่ดิบ และต้นหอมซอยเท่านั้น จุดเด่นที่ไม่เหมือนใครก็คือภาชนะที่ใช้เสิร์ฟจะใช้หม้อดินเผาแบบดั้งเดิม เพื่อให้ซุปในชามยังคงร้อนจนนาทีสุดท้ายที่ทานหมด จึงนิยมทานกันในช่วงฤดูหนาว นอกจากนี้จะมีเสิร์ฟผักดองมาเป็นเครื่องเคียงให้ทานตัดเลี่ยนระหว่างซดน้ำซุปราเม็ง

 

ต้นกำเนิดโคจิ นาเบะยากิ ราเม็ง (Kochi Nabeyaki Ramen)

โคจิ นาเบะยากิ ราเม็ง (Kochi Nabeyaki Ramen) ถือกำเนิดขึ้นจากจิตวิญญาณแห่งโอโมเตะนาชิของร้านราเม็งแห่งหนึ่งที่ใช้กรมวิธีการเก็บอาหารให้ร้อนด้วยภาชนะดินเผา เพราะหากเสิร์ฟด้วยชามธรรมดาราเม็งจะเย็นชืดไม่อร่อย ซึ่งเดิมที่เคยใช้เป็นหม้อเคลือบในการเสิร์ฟ แต่ได้เปลี่ยนมาเป็นหม้อดินเผาภายหลัง เพื่อลูกค้าได้ทานราเม็ง พร้อมกับซดซุปร้อน ๆ จนหยดสุดท้าย

 

จุดเด่น

・เบสน้ำซุปทำจากกระดูกไก่
・ท้อปปิ้งด้วยปลาหมึกหลอด หรือชิคุวะ (Chikuwa) และต้นหอมซอย
・ก่อนเสิร์ฟจะตอกไข่ดิบลงไป เมื่อคลุกเคล้ากับน้ำซุปร้อน ๆ แล้ว ไข่จะสุกพอดี
・เสิร์ฟมาในหม้อดินเผาเพื่อให้คงความร้อน

 

ภูมิภาคคิวชู (Kyushu)

นางาซางิ จัมปง (Nagasaki Champon)


 

นางาซางิ จัมปง (Nagasaki Champon) ที่เปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของจังหวัดนางาซางิ (Nagasaki)

 

นางาซางิ จัมปง (Nagasaki Champon) เป็นราเม็งขึ้นชื่อที่เปรียบเสมือนตัวแทนของจังหวัดนางาซางิ (Nagasaki) น้ำซุปทำมาจากการเคี้ยวกระดูกหมูจนได้ที่เป็นสีขาวขุ่น ให้รสชาติเข้มข้น หรือบางร้านจะมีเสิร์ฟแบบซุปไก่ ซุปมิโซะ หรือซุปแกงกะหรี่แตกต่างกันไป สำหรับเครื่องเคียงที่เสิร์ฟคู่มาในจานด้วยจะเป็นผัก และเนื้อสัตว์ประเภทซีฟู๊ดจำนวนมากได้แก่ ปลาหมึก หอยอาซาริ กุ้ง ข้าวโพด เห็ดหูหนู แครอท กะหล่ำปลี ถั่วงอก ไข่นกกะทา และลูกชิ้นปลาคามาโบโกะ (Kamaboko)

ความพิเศษที่ทำให้เมนูชามนี้ต่างจากราเม็งทั่วไปก็คือ เส้นราเม็งที่ใช้จะมีขนาดใหญ่ และทำมาจากแป้งสาลีผสมสารโทอาคุ (Toaku) หรือเรียกว่าน้ำอัลคาไลน์ (ที่มีส่วนผสมของโซเดียมคาร์บอเนต หรือโซดา) ช่วยให้เส้นราเม็งที่ได้มีความเหนียวนุ่มกว่าปกติ

 

ต้นกำเนิดนางาซางิ จัมปง (Nagasaki Champon)

นางาซางิ จัมปง (Nagasaki Champon) เป็นเมนูที่ถือกำเนิดมาจากวัฒนธรรมจีน ถูกรังสรรค์ขึ้นเพื่อให้นักศึกษาชาวจีนที่มาเรียนในเมืองนางาซางิ (Nagasaki) ในสมัยเมจิตอนปลาย ได้ทานอาหารในราคาที่ย่อมเยา และอุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการ โดยนำวัตถุดิบหลากหลาย ทั้งเนื้อหมู ปลาหมึก กุ้ง หอย ถั่วงอก กะหล่ำ หัวหอม หน่อไม้ เห็ด และอื่น ๆ อีกมากมายตุ๋นรวมกันจนได้เป็นเมนู นางาซางิ จัมปง (Nagasaki Champon)

และคำว่าจัมปง (Champon) หมายถึงการผสมผสาน หลังจากที่เมนูนี้ได้รับความนิยมมาก ในหมู่นักศึกษาชาวจีนสมัยนั้น ก็ได้ถูกแพร่หลายออกไปในชาวเมืองนางาซากิ จนปัจจุบัน นางาซางิ จัมปง (Nagasaki Champon) ได้กลายเป็นเมนูประจำท้องถิ่นอันโด่งดังไปโดยปริยาย

 

จุดเด่น

・เบสน้ำซุปทำกระดูกหมู หรือไก่
・เส้นเหนียวนุ่มกว่าปกติ โดยการใช้แป้งสาลีผสมสารโทอาคุ (Toaku)
・ท้อปปิ้งด้วยเนื้อสัตว์ประเภทซีฟู๊ด

 

ฮากาตะ ทงคตสึ ราเม็ง (Hakata Tonkotsu ramen)


 

ซุปสีขาวของข้นฮากาตะ ทงคตสึ ราเม็ง (Hakata tonkotsu ramen) เกิดจากการถูกเคี้ยวของกระดูกหมูหลายชั่วโมง

 

ฮากาตะ ทงคตสึ ราเม็ง (Hakata tonkotsu ramen) เป็นราเม็งขึ้นชื่อของเมืองฮากาตะ (Hakata) จังหวัดฟุกุโอกะ (Fukuoka) เรียกได้ว่าเป็นต้นตำรับของราเม็งซุปกระดูกหมูเลยก็ว่าได้ ซุปของฮากาตะ ทงคตสึ ราเม็ง (Hakata tonkotsu ramen) จะถูกเคี่ยวจากกระดูกหมู ไขมันหมู และคอลลาเจนจนสีของซุปมีความขาวราวกับนม และมีรสชาติเข้มข้น ซึ่งแตกต่างกับราเม็งอื่น ๆ ที่อาจจะใช้กระดูกไก่ หรือปลามาเคี่ยวปนอยู่ด้วย เสิร์ฟพร้อมกับเส้นราเม็งเส้นตรงที่เล็ก และบาง สำหรับเครื่องเคียงที่เสิร์ฟคู่มาในจานด้วยหมูชาชู เห็ดหูหนูหั่นฝอย ไข่ต้ม ต้นหอม และใช้ขิงดองสีแดงเพื่อตัดรสชาติที่เข้มข้นของหมู

นอกจากนี้คนญี่ปุ่นยังนิยมสั่งเส้นเปล่ามาใส่เพิ่ม เรียกว่า คาเอดามะ (Kaedama) หลังจากทานหมด เพื่อใช้ทานกับน้ำซุปที่เหลือ และการทานแบบนี้ช่วยให้ลูกค้าได้ทานเส้นราเมงที่เพิ่งลวกเสร็จใหม่ ๆ ไม่อืดจากการแช่ในน้ำซุปนานเกินไป

 

ต้นกำเนิดฮากาตะ ทงคตสึ ราเม็ง (Hakata tonkotsu ramen)

ฮากาตะ ทงคตสึ ราเม็ง (Hakata tonkotsu ramen) เป็นราเมงสไตล์ฮากาตะที่ถือกำเนิดขึ้นในปีค.ศ. 1937 โดยพ่อค้าที่เปิดร้านอูด้ง Nankin Senryo แผงลอยบริเวณหน้าสถานี Nishitetsu-Kurume เมืองคุรุเมะ (Kurume) ในขณะเดียวกันซุปกระดูกไก่เป็นที่นิยมมาก เขาจึงมีความคิดที่ว่าทำไมไม่ทำซุปกระดูกหมู เพราะกระดูกหมูราคาถูกกว่ากระดูกไก่ จึงได้รังสรรค์นำราเม็งแบบจีน (ชินะโซบะ) ที่สมัยนั้นกำลังเป็นที่นิยมในจังหวัดโตเกียว (Tokyo) และโยโกฮามะ (Yokohama) มาผสมผสานกับนางาซางิ จัมปง (Nagasaki Champon) ซึ่งเป็นเมนูบ้านเกิดของเขา ปรับปรุงสูตรจนเกิดเป็นทงคตสึ ราเม็ง (Tonkotsu ramen) แต่ทว่าก็ยังไม่ได้เป็นซุปกระดูกหมูที่มีสีขาวข้น

และหลังจากนั้น 10 ปีต่อมา เจ้าของร้าน Sankyu เกิดลืมปิดเตาจนต้มกระดูกหมูนานเกินไป ทำให้น้ำซุปที่ได้มีความขาวขุ่น และรสชาติเข้มข้น จนกลายเป็นซุปของฮากาตะ ทงคตสึ ราเม็ง (Hakata tonkotsu ramen) จวบจนปัจจุบัน

 

จุดเด่น

・เบสน้ำซุปทำกระดูกหมูล้วน
・เส้นราเม็งมีลักษณะ ตรง และเล็ก
・ท้อปปิ้งด้วยหมูชาชู เห็ดหูหนูหั่นฝอย ไข่ต้ม ต้นหอม และขิงดองสีแดง

 

เพจที่เกี่ยวข้อง

ค้นหา

Categories

Archives

Please Choose Your Language

Browse the JNTO site in one of multiple languages