HOME Back

Use the

Planning a Trip to Japan?

Share your travel photos with us by hashtagging your images with #visitjapanjp

10 นาเบะยอดนิยมทั่วญี่ปุ่น ที่ไม่ควรพลาดชิม

“Nabe” (นาเบะ) ในภาษาญี่ปุ่นแปลว่า หม้อ และกลายเป็นคำศัพท์ที่คนญี่ปุ่นใช้เรียก วิธีการปรุงอาหารแบบหม้อไฟ โดยการต้มทุกอย่างเช่นผัก เห็ด เนื้อสัตว์ เต้าหู้ และเส้นต่าง ๆ ลงในหม้อ และทานในหม้อนั้นโดยไม่เปลี่ยนภาชนะ

ในช่วงที่อากาศหนาวเมนูนาเบะ เป็นหนึ่งในเมนูที่คนญี่ปุ่นมักทานเพื่อคลายหนาว ซึ่งได้รับความนิยมมาตั้งแต่สมัยเมจิ ปัจจุบันเมนูนาเบะมีหลากหลายรสชาติ ตามแต่ละท้องถิ่นที่ใช้วัตถุดิบขึ้นชื่อ

ครั้งนี้จะมาแนะนำให้รู้จักกับ 10 เมนูนาเบะที่ขึ้นชื่อของทั่วทั้งภูมิภาคในญี่ปุ่นตั้งแต่ฮอกไกโด (Hokkaido) ไปจนถึงฟุกุโอกะ (Fukuoka)

 

อิชิคาริ นาเบะ (Ishikari Nabe), ฮอกไกโด (Hokkaido)


 

อิชิคาริ นาเบะ (Ishikari Nabe) อัดแน่นด้วยผัก และเนื้อปลาแซลมอนชิ้นโต

 

อิชิคาริ นาเบะ (Ishikari Nabe) เป็นเมนูหม้อไฟพื้นเมืองของฮอกไกโด (Hokkaido) เมืองอิชิคาริ (Ishikari) โดยวิวัฒนาการมาจากอาหารพื้นบ้านของชาวไอนุในสมัยก่อน ในปัจจุบันมีอิชิคาริ นาเบะ (Ishikari Nabe) สูตรใหม่ที่ใส่นม และเนยลงไปให้น้ำซุปที่ได้หวานหอมมีเอกลักษณ์ชัดเจนในแบบฮอกไกโด ซึ่งกำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก

 

วัตถุดิบ และรสชาติ

เมนูนี้มีวัตถุดิบหลักคือปลาแซลมอนสดชิ้นโต เนื่องจากแม่น้ำอิชิคาริ (Ishikari) เป็นแหล่งจับปลาแซลมอนที่โด่งดัง ต้มพร้อมผักต่าง ๆ เช่น กระหล่ำปลี ต้นหอมญี่ปุ่น หัวไชเท้า หัวหอม เต้าหู้ และปรุงรสน้ำซุปด้วยมิโสะ รสชาติน้ำซุปกับความอร่อยของเนื้อปลาแซลมอนนั้นเข้ากันอย่างลงตัว

 

หาทานได้ที่ไหน ทานเมื่อไหร่

อิชิคาริ นาเบะ (Ishikari Nabe) เป็นเมนูที่ชาวญี่ปุ่นนิยมทานกันตั้งแต่ช่วงฤดูใบไม้ร่วง ไปจนถึงฤดูหนาว เพราะมีส่วนผสมของมิโสะ ช่วยให้ร่างกายอบอุ่น และช่วงนี้ยังเป็นช่วงที่เนื้อปลาแซลมอนจะอร่อยเป็นพิเศษ

 

คิริทัมโปะ (Kiritanpo), อาคิตะ (Akita)


 

คิริทัมโปะนาเบะ (Kiritanpo Nabe) เมนูขึ้นชื่อของจังหวัดอาคิตะ (Akita)

 

คิริทัมโปะ (Kiritanpo) เมนูขึ้นชื่อประจำจังหวัดอาคิตะ (Akita) มีที่มาที่ไปที่หลากหลาย แต่ก็มักจะเล่าขานกันว่าเมนูนี้เริ่มเกิดขึ้นในบริเวณ เมืองโอดะเตะ (Odate) จากชาวเขาแถบนั้น ได้ริเริ่มการถนอมอาหารจากข้าวที่กำลังจะเสีย นำข้าวมาตำ ปั้น และเสียบไว้กับแท่งไม้ จากนั้นนำไปย่างเพื่อยืดอายุของข้าวให้ยาวนาน และเก็บไว้กิน ต่อมาเริ่มมีการนำมาต้มรวมกับน้ำซุปนาเบะจนกลายเป็นเมนูคิริทัมโปะนาเบะ (Kiritanpo Nabe) เมนูขึ้นชื่อของอาคิตะ (Akita)

 

วัตถุดิบ และรสชาติ

คิริทัมโปะ (Kiritanpo) ทำมาจากข้าวญี่ปุ่นสุกผสมกับน้ำเกลือเล็กน้อย แล้วนำมาตำรวมกัน จากนั้นปั้นเป็นก้อนเสียบด้วยแท่งไม้ แล้วนำไปย่างด้วยถ่านจนเป็นสีเหลืองน้ำตาลจนมีกลิ่นหอม กรอบนอกนุ่มใน โดยคิริทัมโปะนาเบะ (Kiritanpo Nabe) คือการนำข้าวคิริทัมโปะ (Kiritanpo)) ลงไปต้มรวมกับน้ำซุปนาเบะที่ทำจากไก่ พร้อมกับผักและเห็ดมากมาย เช่น รากโกโบ เห็ดเข็มทอง เห็ดชิเมจิ เห็ดไมทาเกะ ต้นหอมญี่ปุ่น หรือวัตถุดิบอื่น ๆ เช่นโมจิ ขึ้นอยู่กับร้านแต่ละแห่งจะคิดค้นขึ้นมา ให้รสชาติที่หวาน เค็ม กลมกล่มลงตัว

 

หาทานได้ที่ไหน ทานเมื่อไหร่

เมนูคิริทัมโปะ นาเบะ (Kiritanpo Nabe) สามารถหาได้ทั่วไปตามร้านอาหารญี่ปุ่นทั่วจังหวัดอาคิตะ (Akita) เป็นเมนูที่นิยม และเหมาะในการทานในช่วงฤดูหนาว

 

อังโคนาเบะ (Ankou Nabe), อิบารากิ (Ibaraki)


 

อังโคนาเบะ (Anko Nabe) มีวัตถุดิบหลักคือปลามังค์ฟิช (Monkfish) เนื้อหวานนุ่ม

 

อังโคนาเบะ (Anko Nabe) เป็นเมนูนาเบะประจำจังหวัดอิบารากิ (Ibaraki) ทำจากปลาอังโค หรือ มังค์ฟิช (Monkfish) รูปร่างหน้าตาแปลกประหลาด ตัวแบน สีดำ ปากกว้างเต็มไปด้วยฟันแหลมคม หาพบได้ในท้องทะเลลึกแถบมหาสมุทรแปซิฟิก แทบทุกส่วนในตัวปลาอังโคสามารถนำมาทานได้ ประกอบไปด้วย 7 ส่วน ตั้งแต่เนื้อปลา ตับ ครีบหัว หางปลา กระเพาะ เหงือก รังไข่ และหนัง แต่ส่วนที่พิเศษที่สุดคือตับ ที่เรียกกันว่า ‘ตับปลาอังกิโมะ’

 

วัตถุดิบ และรสชาติ

เมนูนี้มีวัตถุดิบหลักคือปลาอังโค ใช้ส่วนประกอบทั้ง 7 อย่างต้มลงในน้ำซุปที่ปรุงรสด้วยมิโสะ หรือซอสถั่วเหลือง และใส่ผักต่าง ๆ ลงไปเช่น แครอท เห็ดหอม เต้าหู้ เป็นต้น ให้รสชาติเบา ๆ กลมกล่อม และเต็มเปี่ยมไปด้วยคอลลาเจน แต่ละร้านอาหารจะใช้มีการปรุงที่เป็นเอกลักษณ์ หรือใช้วัตถุดิบอื่น ๆ เพิ่มเติมลงไปไม่เหมือนกัน โดยเฉพาะถ้ายิ่งใช้ตับปลาอังโคมากเท่าไหร่ก็ รสชาติของน้ำซุปยิ่งเปลี่ยนไปเท่านั้น

นอกจากนี้ยังมีซุปแบบโดบุจิรุ (Dobujiru) ที่จะใช้เฉพาะน้ำจากผัก มาเคี่ยวกับตับปลา และมิโสะเท่านั้น ทำให้ได้รสชาติที่เข้มข้น โดยต้นกำเนิดของซุปนี้คือการที่ชาวประมงที่ต้องหาวิธีทำอาหารด้วยปลาอังโคโดยใช้น้ำอย่างประหยัดในขณะที่อาศัยอยู่บนเรือ

 

หาทานได้ที่ไหน ทานเมื่อไหร่

อังโคนาเบะ (Anko Nabe) สามารถหาทานได้ในช่วงเดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนมีนาคม เพราะเป็นฤดูกาลจับปลาอังโค แต่ช่วงที่ชาวญี่ปุ่นนิยมทานกันมากที่สุดคือ ช่วงเดือน ธันวาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ เพราะเนื้อปลาจะอร่อย และหวานหอม หาทานได้ตามร้านนาเบะในจังหวัดอิบารากิ (Ibaraki)

 

มิโซะนิโคมิ อุด้ง (Miso Nikomi Udon), ไอจิ (Aichi)


 

มิโซะนิโคมิ อุด้ง (Miso Nikomi Udon) ปรุงรสด้วยมิโสะแดงที่เป็นของดีประจำจังหวัดไอจิ (Aichi) ©︎あいちの郷土料理レシピ50選

 

มิโซะนิโคมิ อุด้ง (Miso Nikomi Udon) เป็นเมนูนาเบะตุ๋นเส้นอุด้งประจำจังหวัดไอจิ (Aichi) ในสมัยก่อนเป็นเมนูที่ทำทานกันในบ้าน แต่ว่ากันว่าสมัยเมจิ มีร้านอาหารในเมืองอิจิโนะมิยะ (Ichinomiya) นำมาเสิร์ฟจนได้รับความนิยม และแพร่หลายในทั่วเมืองนาโกย่า (Nagoya)

 

วัตถุดิบ และรสชาติ

เมนูนี้มีวัตถุดิบหลักคือ เส้นอูด้งที่เหนียวนุ่ม ตุ๋นกับน้ำซุปที่ปรุงรสด้วยฮะโจมิโสะ (Hatcho miso) หรือมิโสะแดงที่เป็นของดีประจำถิ่น มีรสชาติ และสีเข้มข้นจากการบ่มถั่วเหลืองเป็นเวลานาน และยังมีคุณค่าทางโภชนาการมากกว่ามิโสะประเภทอื่น ในหม้อยังประกอบด้วยส่วนผสมที่หลากหลายเช่น ไข่แดง เนื้อไก่ ลูกชิ้น ต้นหอม เป็นต้น มักจะเสิร์ฟมาในหม้อเครื่องปั้นดินเผา ช่วยเพิ่มอรรถรสในการทาน

 

หาทานได้ที่ไหน ทานเมื่อไหร่

สามารถหาทานได้ตลอดทั้งปี แต่ได้รับความนิยมเป็นพิเศษในฤดูหนาว เพราะช่วยให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย

 

คาคิโนะโดะนาเบะ (Kakino donabe) , ฮิโรชิม่า (Hiroshima)


 

คาคิโนะโดะนาเบะ (Kakino donabe) มีเอกลักษณ์คือมิโสะที่ถูกทาไว้รอบ ๆ หม้อ

 

คาคิโนะโดะนาเบะ (Kakino donabe) เป็นนาเบะใส่หอยรางรม ประจำจังหวัดฮิโรชิม่า (Hiroshima) ซึ่งเป็นจังหวัดที่ผลิตหอยนางรมที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น ว่ากันว่าจุดเริ่มต้นของความเป็นเอกลักษณ์ของเมนูนี้คือ พ่อค้าหอยนางรมได้เป็นคนริเริ่มนำมิโสะปาดไว้รอบ ๆ หม้อไฟ (เหมือนคันดินรอบปราสาท) โดยที่มิโสะจะยังไม่ถูกผสมรวมไปกับน้ำซุป เวลาทานให้ละลายมิโสะเข้าด้วยกันกับน้ำซุปจึงเป็นที่มาของชื่อ โดะนาเบะ (donabe) มาจากคำว่า โดะเทะ (dote) หมายความว่า คันดิน คันกั้นน้ำนั่นเอง

 

วัตถุดิบ และรสชาติ

เมนูนี้มีวัตถุดิบหลักคือ หอยนางรมตัวอ้วนจากฮิโรชิม่า (Hiroshima) ที่ได้ชื่อว่าเป็นหอยนางรมที่ดีที่สุดในญี่ปุ่น ต้มรวมกับผักนานาชนิดเช่น ผักกาดขาว เห็ดหอม เห็ดเข็มทอง แครอท เต้าหู้ ต้นหอมญี่ปุ่น บุก เป็นต้น และหัวใจสำคัญของเมนูนี้คือมิโสะแดง หรือมิโสะขาว จะให้รสชาติที่กลมกล่อมลงตัว สามารถละลายมิโสเพื่อปรับรสได้ตามใจชอบ ใครชอบรสเข้มข้นก็ละลายมิโสะให้เยอะหน่อย หรือหากใครที่ชอบรสกลมกล่อมก็ไม่ต้องละลายมิโสะจนหมด

 

หาทานได้ที่ไหน ทานเมื่อไหร่

ปลายฤดูหนาวช่วงเดือนมกราคม ถึงเดือนกุมภาพันธ์จะเป็นช่วงจับหอยนางรม ในช่วงนี้หอยนางรวมจะอวบอร่อยเป็นพิเศษ ชาวญี่ปุ่นจึงนิยมทานคาคิโนะโดะนาเบะ (Kakino donabe) ในช่วงฤดูหนาว

 

มิคัง นาเบะ (Mikan Nabe), ยามากุจิ (Yamaguchi)


 

มิคัง นาเบะ (Mikan Nabe) พร้อมส้มสด ๆ

 

มิคัง นาเบะ (Mikan Nabe) หรือ นาเบะส้ม เป็นเมนูขึ้นชื่อและมีต้นกำเนิดขึ้นมาบนเกาะยะชิโระ (Yashiro Island) ซึ่งเป็นเกาะที่แหล่งเพาะปลูกส้มขึ้นชื่อของจังหวัดยามากูจิ (Yamaguchi) นิยมรับประทานกันในช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคมซึ่งเป็นฤดูเก็บเกี่ยวส้มของเกาะพอดิบพอดี

 

วัตถุดิบ และรสชาติ

ภายในนาเบะจะประกอบไปด้วยผักและเห็ดหลากหลายชนิด เช่น ต้นหอม เห็ดชิทาเกะ เห็ดเข็มทอง รวมไปถึงลูกชิ้นปลาทอด เนื้อปลา กุ้ง และส้มแมนดารินทั้งลูกต้มอยู่ในหม้อพร้อมกัน ส้มแมนดารินที่ว่านี้ ไม่ได้แค่ใช้ในการประดับหม้อให้สวยงามเท่านั้น แต่ยังสามารถรับประทานได้แบบทั้งลูกรวมถึงเปลือกส้มด้วย ซึ่งจะช่วยให้เมนูนาเบะนี้ถูกเติมแต่งไปด้วยกลิ่นที่หอมหวานไปกับรสชาติที่มีความหวานและเปรี้ยวของส้มสด ๆ อีกด้วย นับเป็นเมนูที่แปลกใหม่ที่ใคร ๆ ต่างอยากมาลิ้มลอง

 

หาทานได้ที่ไหน ทานเมื่อไหร่

มิคัง นาเบะ (Mikan Nabe) นิยมทานกันในช่วงฤดูหนาว หรือจะเลือกทานในฤดูเก็บเกี่ยวส้มของเกาะระหว่างเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคมเพราะจะทำให้ส้มนั้นอยู่ในช่วงเวลาที่มีรสชาติที่ดีที่สุดนั่นเอง

 

มิซุทากิ (Mizutaki), ฟุคุโอกะ (Fukuoka)


 

มิซุทากิ (Mizutaki) นาเบะซุปไก่ประจำเมืองฮากาตะ (Hakata) ©️福岡市

 

มิซุทากิ (Mizutaki) เชื่อกันว่าเมนูนี้ได้ถือกำเนิดขึ้นในช่วงยุคเมจิ (Meiji period) โดยมีชื่อเรียกเฉพาะว่า ฮากาตะ มิซุทากิ (Hakata Mizutaki) เป็นเมนูที่ได้รับความนิยมอย่างมากในฮากาตะ (Hakata) จนกลายเป็นหนึ่งในอาหารท้องถิ่นขึ้นชื่อของฟุกุโอกะ (Fukuoka) ไปในที่สุด

 

วัตถุดิบ และรสชาติ

สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยของมิซุทากิ (Mizutaki) คือน้ำซุปที่ทำจากไก่สูตรพิเศษ เนื้อไก่ กะหล่ำปลี แครอท ใบคิคุนะ ต้นหอมญี่ปุ่น เห็ด เต้าหู้ เป็นต้น โดย มิซุทากิ (Mizutaki) นิยมทานคู่กับซอสปอนซุ (Ponzu) ซึ่งเป็นซอสรสเปรี้ยวติดเค็มเล็กน้อยและยังมีความหอมจากกลิ่นของเปลือกมะนาวหรือส้มยูซุอีกด้วย มิซุทากิ (Mizutaki) เป็นเมนูที่มีคอลลาเจนอยู่มาก และมีไขมันน้อย ทำให้เป็นหนึ่งในเมนูที่ผู้หญิงนิยมทานด้วยเช่นกัน

 

หาทานได้ที่ไหน ทานเมื่อไหร่

มิซุทากิ (Mizutaki) เป็นเมนูยอดนิยมในช่วงฤดูหนาว แต่มิซุทากิ (Mizutaki) นั้นสามารถหาทานได้ในทุกฤดู โดยอาจจะมีการปรับเปลี่ยนวัตถุดิบบางชนิดไปตามแต่ละฤดูกาลมาเป็นส่วนผสม

 

อนเซ็น ยุโดฟุ (Onsen Yudofu), ซากะ (Saga)


 

อนเซ็น ยุโดฟุ (Onsen Yudofu) รสชาติกลมกล่อมจากเต้าหู้

 

อนเซ็น ยุโดฟุ (Onsen Yudofu) เป็นเมนูเต้าหู้ที่ต้มด้วยน้ำแร่จากอุเระชิโนะอนเซ็น (Ureshino Onsen) จังหวัดซากะ (Saga) ที่นี่โด่งดังในเรื่องของน้ำด่างที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุที่ช่วยในการบรรเทาอาการต่าง ๆ ซึ่งว่ากันว่ามีสรรพคุณด้านสุขภาพมากมาย

 

วัตถุดิบ และรสชาติ

เมนูนี้มีวัตถุดิบหลักคือ เต้าหู้ ที่ให้รสสัมผัสเนียนนุ่มจนแทบจะละลายในปาก น้ำซุปมีลักษณะสีขาวขุ่น เกิดจากน้ำอนเซ็นที่ทำปฎิกริยากับโปรตีนในเต้าหู้ขณะต้ม ทำให้น้ำซุปได้รสชาติอุมามิ และมีสีขาวนวลเหมือนผสมนมลงไป บางแห่งจะต้มเต้าหู้กับน้ำอย่างเดียว หรือบางแห่งอาจจะใส่ผักเช่น ผักกาดขาว แครอท เห็ดลงไปต้มด้วย สามารถทานเปล่า ๆ ได้ หรือจะจิ้มซอสพอนสึให้รสชาติตัดเปรี้ยวก็อร่อย

 

หาทานได้ที่ไหน ทานเมื่อไหร่

อนเซ็น ยุโดฟุ (Onsen Yudofu) สามารถหาทานได้ตลอดทั้งปีตามร้านที่มีเมนูนาเบะในย่านอุเระชิโนะอนเซ็น (Ureshino Onsen) แต่จะนิยมทานในช่วงฤดูหนาวเพราะคลายความหนาวได้ดี

 

คาโมะ นาเบะ (Kamo Nabe), ชิกะ (Shiga)


 

คาโมะ นาเบะ (Kamo Nabe) หรือนาเบะเนื้อเป็ด

 

คาโมะ นาเบะ (Kamo Nabe) เป็นนาเบะใส่เนื้อเป็ดประจำจังหวัดชิกะ (Shiga) โดยจะนิยมทานกันในช่วงฤดูหนาวซึ่งเป็นช่วงที่ฝูงเป็ดป่าจากไซบีเรียจะบินมารวมตัวกันที่ทะเลสาบบิวะ (Biwa Lake) เมนูนี้ถูกเสิร์ฟให้กับไดเมียวโทโยโทมิ ฮิเดโยชิ (Toyotomi Hideyoshi) ที่เคยปกครองแคว้นโอมิ (Omi) (ปัจจุบันคือจังหวัดชิกะ (Shiga)) และเป็นที่โปรดปรานจนมีคำสั่งให้เพาะพันธุ์เป็ดที่แคว้นคาวะชิ (Kawachi) (ปัจจุบันคือจังหวัดโอซาก้า (Osaka))

 

วัตถุดิบ และรสชาติ

เนื้อเป็ด คือส่วนประกอบหลักในเมนูคาโมะ นาเบะ (Kamo Nabe) ต้มรวมกับเต้าหู้ ต้นหอมญี่ปุ่น และผักท้องถิ่นอื่น ๆ ที่หาได้ในจังหวัด และน้ำซุปจะเป็นเบสดาชิที่ได้จากเคี่ยวคอมบุ และปลาโอตากแห้ง ด้วยสภาพอากาศที่หนาวเหน็บทำให้เนื้อเป็ดจะมีไขมันเยอะ เนื้อนุ่มเด้ง รสชาติหวาน ยิ่งทานกับน้ำต้มผักแล้วจะได้รสชาติกลมกล่อมแบบไม่ต้องปรุง บางร้านอาจมีการปรุงรสชาตินำซุปด้วยโชยุ หรือน้ำสุกี้ยากี้

 

หาทานได้ที่ไหน ทานเมื่อไหร่

ในช่วงเดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนมีนาคมจะเป็นช่วงที่ผ่อนปรนในการล่าเป็ดป่ามาประกอบอาหาร จึงสามารถหาทานได้แต่ฤดูหนาวเท่านั้น แต่ปัจจุบันร้านบางแห่งก็จะใช้เป็ดที่เลี้ยงทั้งใน และนอกจังหวัดเนื่องจากหาได้ง่ายกว่า และในเมืองชิกะ (Shiga) เองยังมีร้านเก่าแก่ที่เสิร์ฟคาโมะ นาเบะ (Kamo Nabe) มาตั้งแต่สมัยเอโดะให้ได้เลือกชิมมากมาย

 

เอจิเซ็นนาเบะ (Echizen Crab Nabe), ฟุคุอิ (Fukui)


 

ปูเอจิเซ็น (Echizen Crab) กับเมนูที่หลากหลาย

 

ปูเอจิเซ็น (Echizen Crab) คือปูหิมะที่จับได้บริเวณทะเลญี่ปุ่นน้ำลึกในพื้นที่จังหวัดฟุคุอิ (Fukui) เป็นปูที่มีชื่อเสียงมากที่สุดชนิดหนึ่งของประเทศญี่ปุ่น มีคุณภาพของเนื้อปูที่ดีและรสชาติอร่อย ทำให้มีราคาค่อนข้างสูง และยังถูกนำมาเป็นวัตถุดิบหลักในหลายเมนู รวมถึงเมนูนาเบะด้วยเช่นกัน จึงทำให้เอจิเซ็นนาเบะ (Echizen Crab Nabe) เป็นเมนูขึ้นชื่อไปในทันที

 

วัตถุดิบ และรสชาติ

วัตถุดิบของเอจิเซ็นนาเบะ (Echizen Crab Nabe) ประกอบไปด้วยผักต่าง ๆ เช่น ต้นหอมญี่ปุ่น เห็ดชิทาเกะ เห็ดเข็มทอง เต้าหู้ เป็นต้น และขาดไม่ได้กับปูเอจิเซ็น (Echizen Crab) ที่มีทั้งเนื้อแน่น ๆ จากส่วนขา ก้าม และมันปู ทานพร้อมกันก็จะได้รสชาติเข้มข้นและรสชาติของปูที่สดใหม่

 

หาทานได้ที่ไหน ทานเมื่อไหร่

เอจิเซ็นนาเบะ (Echizen Crab Nabe) หาทานได้ทั่วไปตามร้านที่มีเมนูนาเบะ แต่จะมีเยอะเป็นพิเศษบริเวณเมืองที่ที่ท่าเรือทำประมง เช่น มิคุนิ (Mikuni) ทสึรุกะ (Tsuruga) และโอะบะมะ (Obama) โดยช่วงเวลาที่ดีที่สุดของปูเอจิเซ็น (Echizen Crab) คือเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นฤดูจับปูนั่นเอง

 

เพจที่เกี่ยวข้อง

ค้นหา

Categories

Archives

Please Choose Your Language

Browse the JNTO site in one of multiple languages