HOME Back

Use the

Planning a Trip to Japan?

Share your travel photos with us by hashtagging your images with #visitjapanjp

10 ดงบุริ ยอดนิยมทั่วญี่ปุ่น

“Donburi” (ดงบุริ) คืออะไร

ดงบุริ (Donburi : 丼) ในภาษาญี่ปุ่นหมายถึง ชามข้าว แต่กลายป็นคำศัพท์ที่คนญี่ปุ่นใช้เรียกข้าวหน้าต่าง ๆ โดยชื่อเรียกของ ดงบุริ (Donburi) จะแตกต่างกันไปตามท็อปปิ้งที่ราดบนหน้าของข้าวสวย แล้วเติมคำว่า “ด้ง” (Don) ตามท้ายชื่อนั้น ๆ ลงไป

ลักษณะของอาหารประเภทนี้จะเป็นอาหารจานเดียว ด้านบนข้าวสวยมักจะราดด้วยกับข้าวที่ทำจากปลาดิบ เนื้อสัตว์ ผัก หรือวัตถุดิบอื่น ๆ ซึ่งเมนูนี้เกิดขึ้นจากความต้องการอาหารที่รวดเร็วและง่าย

 

ทำความรู้จักกับ “ดงบุริ (Donburi)”

ดงบุริ (Donburi) เริ่มปรากฏให้เห็นในสมัยยุคเอโดะ (Edo Period) จานแรกที่ถือกำเนิดขึ้นคือ อุนะด้ง (Unadon) หรือปลาไหลย่างที่วางอยู่บนข้าวสวย นิยมเสิร์ฟกันตามโรงละคร หรืองานเทศกาลต่าง ๆ

ช่วงเวลาต่อมา ดงบุริได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ประจวบกับในยุคเมจิ (Meiji Period) ที่มีการเปิดรับวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามามากขึ้น จึงได้เริ่มมีการพัฒนาวัตุดิบบนข้าวให้หลากหลายมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันสามารถหาชิมดงบุริ (Donburi) ข้าวหน้าต่างๆ ได้ทั่วประเทศญี่ปุ่น อาทิเช่น
• โอกะโกะด้ง (Oyakodon) ข้าวหน้าไก่ และไข่
• คัตสึด้ง (Katsudon) ข้าวหน้าหมูทอด
• กิวด้ง (Gyudon) ข้าวหน้าเนื้อ
• อุนาด้ง (Unadon) ข้าวหน้าปลาไหลย่าง
• ไคเซ็นด้ง (Kaisendon) ข้าวหน้าอาหารทะเล
• เทนด้ง (Tendon) ข้าวหน้าเทมปุระ
• เทกกะด้ง (Tekkadon) ข้าวหน้ามากุโร่ เป็นต้น

ครั้งนี้จะมาแนะนำให้รู้จักกับ 10 เมนูข้าวดงบุริ ที่ไปญี่ปุ่นแล้วไม่ควรพลาด เป็นข้าวหน้าราดที่ขึ้นชื่อเป็นของเด่นของดังตามเมืองต่างๆ ทั่วญี่ปุ่น โดยเริ่มตั้งแต่ฮอกไกโด (Hokkaido) ไปจนถึงฟุกุโอกะ (Fukuoka)

 

โทคะจิ บุตะด้ง (Tokachi Butadon), ฮอกไกโด (Hokkaido)


 

 

โทคะจิ บุตะด้ง (Tokachi Butadon) หรือข้าวหน้าเนื้อหมูโทคะจิ เป็นเมนูขึ้นชื่อของฮอกไกโด (Hokkaido) เริ่มต้นขึ้นในช่วงปลายยุคเมจิหรือประมาณปี ค.ศ. 1910 ที่เริ่มมีการทำฟาร์มหมูในเขตโทคะจิ (Tokachi) จนกลายเป็นพื้นที่เลี้ยงหมูที่สำคัญของจังหวัด เมื่อเข้าสู่ต้นยุคโชวะหรือประมาณปี ค.ศ. 1930 ร้านอาหารแห่งหนึ่งในเมืองใกล้กันนั้นอย่างเมืองโอะบิฮิโระ (Obihiro) ได้มีการนำเนื้อหมูจากโทคะจิ (Tokachi) มาย่างถ่านแล้วราดด้วยซอสปลาไหลโบะไปบนข้าวจนกลายเป็นเมนูโทคะจิ บุตะด้ง (Tokachi Butadon) ที่ได้รับความนิยมมาจนถึงทุกวันนี้

 

วัตถุดิบ และรสชาติ

โทคะจิ บุตะด้ง (Tokachi Butadon) เป็นเมนูที่ทำได้ไม่ยาก และมีรสชาติที่อร่อยจนสามารถทานได้บ่อย ๆ มีส่วนผสมไม่เยอะที่ประกอบไปด้วย เนื้อหมู ข้าว และซอสที่มีส่วนผสมของ สาเก ซอสถั่วเหลือง มิริน น้ำตาล กระเทียม และอาจจะโรยด้วยต้นหอมญี่ปุ่นหรือถั่วลันเตา ซึ่งเมนูนี้จะมีความหวาน มัน เค็ม และความหอมของเนื้อที่ผ่านการย่าง ทานพร้อมกับข้าวญี่ปุ่นร้อน ๆ ทำให้เมนูง่าย ๆ นี้พิเศษเกินกว่าคำว่าง่าย ๆ อย่างแน่นอน

 

หาทานได้ที่ไหน ทานเมื่อไหร่

โทคะจิ บุตะด้ง (Tokachi Butadon) เป็นเมนูขึ้นชื่อของจังหวัดจึงสามารถหาทานได้ในหลาย ๆ ร้านในฮอกไกโด (Hokkaido) และมีขายตลอดทั้งปี

 

ไคเซ็นด้ง (Kaisendon), ฮอกไกโด (Hokkaido)


 

 

ไคเซ็นด้ง (Kaisendon) หรือข้าวหน้าอาหารทะเลสด เป็นอีกหนึ่งเมนูที่ได้รับความนิยมสำหรับคนชอบทานปลาดิบ โดยเฉพาะเมื่อไปเยือนเกาะฮอกไกโด (Hokkaido) ซึ่งอุดมสมบูรณ์ไปด้วยอาหาร และธรรมชาติ รวมถึงยังขึ้นชื่อเรื่องความสดอร่อยของอาหารทะเลเป็นอย่างมาก

เมนูนี้เป็นเมนูที่อัดแน่นไปด้วยอาหารทะเลสด ๆ หลากชนิดตกแต่งสวยงามอยู่บนข้าวสวยพร้อมทาน โดยอาหารทะเลแต่ชนิดนั้นจะไม่เหมือนกันขึ้นอยู่กับแต่ละร้านหรือฤดูของการทำประมง

 

วัตถุดิบ และรสชาติ

ไคเซ็นด้ง (Kaisendon) ประกอบไปด้วยอาหารทะเลสดจัดวางอย่างสวยงามบนข้าวสวยร้อน ๆ ในชามขนาดใหญ่ โดยชนิดของปลาจะแตกต่างกันออกไปตามฤดูกาลหรือการนำเสนอของแต่ละร้าน โดยส่วนใหญ่แล้วจะประกอบไปด้วย ปลาดิบต่าง ๆ เช่น แซลมอน มากุโระ โอโทโระ ปลาหมึก ไข่ปลาแซลมอน กุ้ง ปู หอยเชล หรือไข่หอยเม่น เป็นต้น อาจตกแต่งด้วยใบชิโสะหรือโรยหอมซอยเข้าไปด้วย โดยการทานนั้นจะนิยมราดซอสโชยุไปบนปลาดิบแล้วทาน หรืออาจจะนำซอสโชยุผสมวาซาบิแล้วราดไปบนเนื้อปลาได้เช่นกัน โดยรสชาติจะให้ความรู้สึกเหมือนทานซาชิมิ ที่ทานไปพร้อมกับข้าวสวย

 

หาทานได้ที่ไหน ทานเมื่อไหร่

เมนูไคเซ็นด้ง (Kaisendon) สามารถหาทานได้หลายร้านในฮอกไกโด (Hokkaido) แต่จะนิยมอย่างมากในตลาดปลา เช่น ตลาดซัปโปโรโจไก (Sapporo Jogai Market) หรือตลาดปลานิโจ (Nijo Market) ในซัปโปโร (Sapporo) ตลาดปลาซังคาคุ (Sankaku Market) ในโอตารุ (Otaru) หรือตลาดเช้าฮาโกะดาเตะ (Hakodate Morning Market) ในฮาโกะดาเตะ (Hakodate) โดยวัตถุดิบอาจเปลี่ยนไปตามฤดูกาล

 

ไอซุ จิโดริ คาราอาเกะด้ง (Aizu Jidori Karaage Don) , ฟุกุชิมะ (Fukushima)


 

 

ไอซุ จิโดริ คาราอาเกะด้ง (Aizu Jidori Karaage Don) เป็นเมนูข้าวหน้าไก่คาราอาเกะที่ใช้ไก่บ้านไอซุจิโดริ (Aizu Chicken) จากพื้นที่ไอซุ (Aizu) จังหวัดฟุกุชิมะ (Fukushima) มาเป็นส่วนประกอบหลักในเมนู โดยว่ากันว่าไก่สายพันธุ์นี้เดิมที่ได้ถูกเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยง เพื่อชมปีกอันสวยงามมาตั้งแต่สมัย 400 ปีก่อน

แต่จำนวนผู้เลี้ยงมีไม่มากพอ ทำให้ไก่สายพันธุ์นี้ใกล้จะสูญพันธุ์ ทางศูนย์วิจัยการเกษตรจังหวัดฟุกุชิมะจึงได้เริ่มเพาะเลี้ยง และขยายพันธุ์ไก่ไอซุจิโดริตั้งแต่ปีค.ศ. 1987 เพื่อให้ผู้บริโภาคได้ทานเนื้อไก่กันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากเป็นพันธุ์ที่เลี้ยงแบบปล่อย 120 วัน จึงมีเนื้อที่แน่นไม่ค่อยมีไขมันส่วนเกิน ราคาจึงสูงกว่าปกติ

 

วัตถุดิบ และรสชาติ

เมนูนี้มีวัตถุดิบหลักคือ ไก่บ้านไอซุจิโดริ (Aizu Chicken) ที่มีเนื้อสัมผัสเหนือกว่าไก่ธรรมดาทั่วไปมาก โดยเนื้อจะแน่น และนุ่มเด้ง เพราะถูกเลี้ยงปล่อยแบบอิสระ ไก่จะมีความสุข อารมณ์ดี

แต่ละร้านจะนำเนื้อไก่ที่หั่นเป็นชิ้นมาหมักด้วยเครื่องปรุงแบบญี่ปุ่น อาทิ โชยุ ขิงบด และสาเก โดยแต่ละร้านจะมีสูตรเป็นของตัวเอง เนื้อไก่นุ่มชุ่มฉ่ำจะซ่อนตัวในแป้งทอดกรอบ หอมกลิ่นขิงอ่อน ๆ ด้านบนราดเป็นซอสมายองเนส หรือซอสไก่ทอด

 

หาทานได้ที่ไหน ทานเมื่อไหร่

เมนูไอซุ จิโดริ คาราอาเกะด้ง (Aizu Jidori Karaage Don) เป็นเมนูที่สามารถหาทานได้ตลอดทั้งปีที่เมืองไอซุ-วะกะมัทสึ (Aizu wakamatsu) แต่ฤดูหนาวจะเป็นฤดูที่เนื้อไก่อร่อยมากที่สุด

 

โคมะกะเนะ ซอส คัตสึด้ง (Komagane Sauce Katsu Don), นากาโน่ (Nagano)


 

 

โคมะกะเนะ ซอส คัตสึด้ง (Komagane Sauce Katsu Don) เป็นอาหารขึ้นชื่อประจำเมืองโคมะกะเนะ (Komagane) จังหวัดนากาโน่ (Nagano) ถึงเมนูข้าวหมูทอดราดซอสนั้นจะมีอยู่หลายแห่ง แต่หากเป็นข้าวหมูทอดราดซอสในสไตล์โคมะกะเนะก็เป็นอีกหนึ่งข้าวหมูทอดราดซอสที่มีชื่อเสียงอันดับต้น ๆ โดยโคมะกะเนะ ซอส คัตสึด้ง (Komagane Sauce Katsu Don) เกิดขึ้นในช่วงต้นยุคโชวะ โดยร้านอาหารแห่งหนึ่งได้นำข้าวหมูทอดราดซอสมาพัฒนาสูตรให้เป็นแบบฉบับของตนเองจนได้กลายมาเป็นโคมะกะเนะ ซอส คัตสึด้ง (Komagane Sauce Katsu Don) แบบทุกวันนี้

 

วัตถุดิบ และรสชาติ

โคมะกะเนะ ซอส คัตสึด้ง (Komagane Sauce Katsu Don) ประกอบไปด้วยข้าวสวยที่โปะด้วยกะหล่ำปลีซอยที่ผ่านการแช่น้ำ ท็อปด้วยเนื้อหมูทอดร้อน ๆ ชิ้นใหญ่ราดด้วยซอสสูตรเฉพาะของเมือง ให้รสชาติที่หวานและเค็มของซอสและความฉ่ำจากเนื้อหมูแถมด้วยความกรอบของกะหล่ำปลีซอยตัดเลี่ยนได้เป็นอย่างดี

 

หาทานได้ที่ไหน ทานเมื่อไหร่

ในเมืองโคมะกะเนะ (Komagane) มีร้านที่ขายเมนูโคมะกะเนะ ซอส คัตสึด้ง (Komagane Sauce Katsu Don) มากกว่า 30 แห่งทั่วทั้งเมือง เป็นเมนูที่หาทานได้ตลอดทั้งปี

 

เทมปุระ ดงบุริ หรือเทนด้ง (Tendon), โตเกียว Tokyo


 

 

เทมปุระ ดงบุริ (Tempura Donburi) เรียกสั้นๆ ว่าเท็นด้ง (Tendon) หรือข้าวหน้าเทมปุระ เป็นเมนูญี่ปุ่นขนานแท้ที่โดดเด่นด้วยกุ้งชุปแป้งทอดตัวยาว และผักนานาชนิดชุบแป้งทอดวางบนข้าวสวยร้อนๆ ราดด้วยซอสสูตรพิเศษ มีต้นกำเนิดมาตั้งแต่สมัยเอโดะ (Edo Period) โดยบาทหลวงชาวโปรตุเกสที่เข้ามาเผยแพร่ศาสนา

แม้ในช่วงแรกเมนูเทมปุระยังไม่ใช่อาหารที่สามัญชนทั่วไปสามารถรับประทานได้ เนื่องจากต้องใช้น้ำมันในการทอดมาก ซึ่งในสมัยนั้นน้ำมันเป็นของมีราคา แต่พอเทมปุระมีราคาถูกลงจึงเป็นที่นิยมมากขึ้นในชาวเมืองทั่วไป

และเดิมทีเทมปุระเป็นเพียงอาหารทานเล่นทีวางขายตามร้านแผงลอย เมื่อกลายเป็นเมนูที่ผู้คนชื่นชอบ จึงมีการนำเอาเทมปุระมาพัฒนาเป็นเมนูอาหารต่าง ๆ มากมาย อาทิ ข้าวหน้าเทมปุระ, เทมปุระโซบะ หรือเทมปุระอูด้ง เป็นต้น

 

วัตถุดิบ และรสชาติ

เมนูนี้มีวัตถุดิบหลักคือ กุ้ง หรือจะเป็นอาหารทะเลอื่นๆ อาทิ เนื้อปลา, ปลาหมึก และเทมปุระที่ทำจากผัก อาทิ มะเขือม่วง, ฟักทอง, เห็ดหอม, รากบัว, พริกหยวก,หอมใหญ่, แครอท ฯลฯ บางร้านจะใช้วัตถุดิบตามฤดูกาลแตกต่างกันไป จะทานคู่กับซอสเมนสึยุ หรือซอสหวาน ที่เป็นซอสสำหรับราดหน้าข้าวในเมนูข้าวหน้าเทมปุระ เมื่อทานคู่กันแล้วรสชาติลงตัว

อีกหนึ่งวัตถุดิบหลักที่ต้องให้ความสำคัญของเมนูนี้คือ แป้ง โดยวิธีการเตรียมแป้ง คือผสมน้ำเย็นจัดกับไข่ที่เย็นจัดตีเข้าด้วยกัน เพื่อให้เทมปุระมีรสสัมผัสที่กรอบ ฟู และไม่อมน้ำมัน

 

หาทานได้ที่ไหน ทานเมื่อไหร่

เมนูเท็นด้ง (Tendon) สามารถหาทานได้ทั่วไปในประเทศญี่ปุ่น ในประเทศญี่ปุ่น ร้านขายเทมปุระจะเรียกว่า เทมปุระยะ (Tempura-ya) ขายเฉพาะเทมปุระ และเมนูที่มีเทมปุระเป็นส่วนประกอบเท่านั้น บางร้านมีอายุเกือบ 100 ปีเลยทีเดียว

 

ชิระซุด้ง (Shirasu Don), คานากาว่า (Kanagawa)


 

 

ชิระซุด้ง (Shirasu Don) อีกหนึ่งเมนูข้าวยอดฮิตของนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปเที่ยวในจังหวัดคานากาว่า (Kanagawa) โดยเฉพาะบริเวณชิกาซะกิ(Chigasaki) คามาคุระ (Kamakura) และเอโนะชิมะ (Enoshima) โดยเป็นเมนูที่นำปลาชิระซุ (Shirasu) ลูกของปลาอิวาชิ (Iwashi) จำนวนมากมาโปะลงบนข้าวสวย โดยมีหลากหลาบแบบให้เลือกทาง ซึ่งส่วนใหญ่แล้วข้าวหน้าปลาชิระซุมักจะใช้ปลาชิระซุต้มเกลือ หรือที่เรียกว่า “คะมะอาเงะชิระซุ (Kamaage Shirasu)” หรือปลาชิระซุแห้งที่เรียกว่า “ชิริเม็งจะโกะ (Chirimenjako)” เป็นหลัก แต่ในแถบคามาคุระและเอโนะชิมะซึ่งอยู่ติดทะเลนั้น บางครั้งจะใช้เป็นปลาชิระซุแบบดิบๆแทน เรียกเมนูข้าวหน้าปลาชิระซุดิบนี้ว่า “นะมะชิระซุด้ง (Namashirasu-don)” ให้รสสัมผัสลื่นลิ้นและได้กลิ่นหอมจากทะเลไปพร้อมๆ กัน

 

วัตถุดิบ และรสชาติ

ชิราสุด้ง (Shirasu Don) ประกอบไปด้วยข้าว 1 ถ้วยโปะด้วยปลาชิราสุ หรือปลาซาดีนที่มีให้เลือกทั้งแบบทานดิบ ๆ หรือต้มสุก อาจมีการใส่สาหร่าย หอมญี่ปุ่นซอย ไข่แดง ขิงขูด หรือไข่แดงขึ้นอยู่กับร้านนั้น ๆ ราดด้วยซอสโชยุพร้อมทาน โดยปลาชิราสุนั้นจะมีความกรุบ หวาน มัน ที่ใคร ๆ ต่างก็ติดใจ

 

หาทานได้ที่ไหน ทานเมื่อไหร่

ชิราสุด้ง (Shirasu Don) เป็นเมนูที่หาทานได้ทั่วไปในบริเวณที่อยู่ใกล้กับทะเลอย่างเช่น ชิกาซะกิ(Chigasaki) คามาคุระ (Kamakura) และเอโนะชิมะ (Enoshima) โดยมกราคมถึงเดือนมีนาคมจะเป็นฤดูห้ามออกหาปลาชิราสุ ดังนั้นหากใครมาช่วงนี้จะไม่สามารถหาทานได้

 

ฮะมะมัตสึ อุนางิด้ง (Hamamatsu Unagi Don), ชิซุโอกะ (Shizuoka)


 

 

ข้าวหน้าปลาไหล เรียกว่า อุนะด้ง (Unadon) เป็นอาหารที่นำปลาไหลทะเลหรือที่ชาวญี่ปุ่นเรียกว่า อุนางิ (Unagi) มาย่างสไตล์คะบะยากิ (ทาซอสเทริยากิขณะย่าง) แล้วจัดวางบนข้าวสวยที่ตักรอไว้ในชาม ราดด้วยซอสปรุงพิเศษรสออกเค็มหวาน รสชาติของเนื้อปลาไหลที่ย่างมาอย่างดีจนฟูนุ่มชุ่มฉ่ำ และหอมหวน

ซึ่งในเมืองฮะมะมัตสึ (Hamamatsu) ตั้งอยู่ในจังหวัดชิซุโอกะ (Shizuoka) เป็นเมืองที่มีชื่อเสียงจากการเลี้ยง และจำหน่ายปลาไหลเป็นอันดับที่หนึ่งของประเทศ ปลาไหลคุณภาพจากทะเลสาบฮะมะมัตสึ (Lake Hamamatsu) ได้ถูกนำมาทำเมนูปลาไหลชั้นเลิศโดยร้านอาหารภายในเมืองหรือแม้แต่ในจังหวัดเองก็ตาม หากใครได้ไปจังหวัดชิซุโอกะ (Shizuoka) ก็ไม่ควรพลาด

 

วัตถุดิบ และรสชาติ

ฮะมะมัตสึ อุนางิด้ง (Hamamatsu Unagi Don) เป็นเมนูที่มีหน้าตาเรียบง่าย แต่น่าทานเป็นอย่างมาก ประกอบไปด้วยข้าวสวยร้อน ๆ ในชาม โปะด้วยเนื้อปลาไหลคุณภาพของเมืองฮะมะมัตสึ (Hamamatsu) ย่างด้วยถ่านไม้กับซอสรสหวาน เค็ม พร้อมผักเครื่องเคียงจำพวกผักดองต่าง ๆ ให้รสชาติที่หวาน มัน เค็มเล็กน้อย ตัดเลี่ยนด้วยผักดอง เป็นเมนูที่ทุกคนโปรดปรานอย่างแน่นอน

 

หาทานได้ที่ไหน ทานเมื่อไหร่

ฮะมะมัตสึ อุนางิด้ง (Hamamatsu Unagi Don) เป็นเมนูที่สามารถหาทานได้หลัก ๆ ในเมืองฮะมะมัตสึ (Hamamatsu) ซึ่งเป็นเมืองต้นกำเนิด รวมเมืองต่าง ๆ โดยรอบ เป็นเมนูที่หาทานได้ตลอดทั้งปี

 

อุวะจิมะ ไทเมะชิด้ง (Uwajima Tai-meshi Don), เอฮิเมะ (Ehime)


 

 

อุวะจิมะ ไทเมะชิด้ง (Uwajima Tai-meshi Don) คือเมนูข้าวหน้าปลาไท หรือปลากะพงสด เป็นเมนูท้องถิ่นที่มีต้นกำเนิดมาจากเมืองอุวะจิมะ (Uwajima) ทางตอนใต้ของจังหวัดเอฮิเมะ (Ehime)

ปลาไทเป็นของขึ้นชื่อประจำจังหวัดเอฮิเมะ (Ehime) ในแต่ละพื้นที่จะมีวิธีทำที่แตกต่างกัน อย่างไทเมะชิจากเมือง มัตสึยามะ (Matsuyama) ตอนกลางของจังหวัดเอะฮิเมะ (Ehime) จะนำปลาไทไปหุงกับข้าว ปรุงรสด้วยเกลือ โชยุ สาหร่ายคอมบุ และเสิร์ฟปลาทั้งตัว เพื่อเป็นการเฉลิมฉลอง เพราะคำว่า ‘ไท’ ในภาษาญี่ปุ่น ออกเสียงเหมือนกับคำว่า ‘เมะเดะไท’ (medetai) ซึ่งแปลว่า "ขอแสดงความยินดี"

แต่ที่โดดเด่นคือ เมืองอุวะจิมะ (Uwajima) ที่อยู่ทางตอนใต้ของจังหวัดจะทานปลาไทดิบ ซึ่งเป็นวิธีกินปลาที่เหลืออย่างง่าย ๆ จึงไม่ได้ทานเพื่อเป็นการเฉลิมฉลอง แต่ถือเป็นอาหารจานด่วนที่ใช้เวลารวดเร็ว หาทานได้ง่าย

 

วัตถุดิบ และรสชาติ

เมนูนี้มีวัตถุดิบหลักคือ ปลาไทสดแล่เป็นชิ้น วางบนข้าว จุดเด่นคือซอสที่มีส่วนผสมของน้ำซุป โชยุ ไข่ดิบ เหล้ามิริน และงาขาวแล้วนำไปราดบนข้าวหน้าปลาไท ถือเป็นสูตรพิเศษเฉพาะของท้องถิ่นที่มีรสชาติแตกต่างจากข้าวหน้าปลาไททั่วไป เนื้อปลาจะนุ่มเด้ง ยิ่งทานกับซอสแล้วจะได้รสชาติกลมกล่อม

 

หาทานได้ที่ไหน ทานเมื่อไหร่

อุวะจิมะ ไทเมะชิด้ง (Uwajima Tai-meshi Don) สามารถหาทานได้ตลอดทั้งปีได้ที่เมืองอุวะจิมะ (Uwajima) หรือที่เมืองที่ใหญ่ที่สุดของเอะฮิเมะ (Ehime) อย่าง เมืองมัตสึยามะ (Matsuyama) ก็มีร้านอาหารหลายแห่งที่เสิร์ฟอุวะจิมะ ไทเมะชิด้งเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ลองทานโดยไม่ต้องไปถึงอุวะจิมะ (Uwajima)

 

สึคุมิ ฮิวกะด้ง (Tsukumi Hyuga Don), โออิตะ (Oita)


 

 

สึคุมิ ฮิวกะด้ง (Tsukumi Hyuga Don) หรือข้าวหน้าปลามากุโระสับ เป็นเมนูขึ้นชื่อของเมืองสึคุมิ (Tsukumi) เมืองเล็ก ๆ ที่มีพื้นที่ติดทะเลในจังหวัดโออิตะ (Oita) ถูกคิดค้นโดยชาวประมงของเกาะโฮโตจิมะ (Hotojima) ซึ่งเป็นเกาะที่เจริญรุ่งเรืองในฐานะแหล่งจับปลากลางทะเลตั้งแต่สมัยเมจิ ตั้งอยู่ ห่างออกไปริมฝั่ง 14 กิโลเมตร

เมนูดงบุรินี้มีการปรุงที่ง่าย ไม่ต้องใช้ไฟในการก่อ เนื่องจากชาวประมงต้องการรับสารอาหารที่เพียงพอ และสะดวกรวดเร็วในระหว่างฤดูออกเรือหาปลา โดยชื่อ ‘ฮิวกะ’ นั้นมาจากเสียงลมทะเลพัด ‘ฮิวว… ฮิววว…‘ นอกจากเป็นเมนูท้องถิ่นยอดนิยมของชาวเมืองสึคุมิ (Tsukumi) แล้ว ยังถูกแพร่หลายไปยังพื้นที่ต่าง ๆ จึงถือเป็นต้นตำหรับของข้าวหน้าปลามากุโระมาจนถึงปัจจุบัน

 

วัตถุดิบ และรสชาติ

สิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับเมนูสึคุมิ ฮิวกะด้ง (Tsukumi Hyuga Don) คือปลามากุโระสด แล่เป็นชิ้นเล็กๆ ปรุงด้วยซอสโชยุ น้ำตาล เกลือ งาขาว ท็อปปิ้งด้วยต้นหอม หรือขิง บางร้านจะทานคู่กับไข่แดงดิบ (หรือไม่ก็นำไข่กิบผสมกับซอส) เพื่อรสชาติที่เข้มข้น และกลมกล่อม

หากอยากเพิ่มอรรถรสในการทาน ก็สามารถเหลือข้าวไว้เล็กน้อย ทานเป็นโอฉะสึเกะ (Ochazuke) เพียงเติมน้ำซุปดาชิ หรือน้ำชาร้อน ๆ ลงในข้าว และทานคู่กับเครื่องเคียงต่าง ๆ

 

หาทานได้ที่ไหน ทานเมื่อไหร่

สึคุมิ ฮิวกะด้ง (Tsukumi Hyuga Don) เป็นเมนูที่สามารถหาทานได้ในทุกฤดู และมีขายตามร้านอาหารญี่ปุ่นทั่วไปในจังหวัดโออิตะ (Oita) บางแห่งที่เสิร์ฟเป็นอาหารคอร์สก็จะมีเมนูที่ทำจากปลามากุโระด้วยเช่นกัน

 

อะคะ วากิวด้ง (Aka Wagyudon), คุมาโมโตะ (Kumamoto)


 

 

อะคะ วากิวด้ง (Aka Wagyudon) หรือข้าวหน้าวัวแดงที่เป็นเมนูขึ้นชื่อเมืองอะโสะ (Aso) จังหวัดคุมาโมโตะ (Kumamoto) ซึ่งเป็นแหล่งเพาะเลี้ยงวัวขนน้ำตาลสายพันธุ์อะคะอุชิ (Akaushi) พื้นที่เลี้ยงวัวนั้นรายล้อมไปด้วยเทือกเขาอะโสะอันอุดมสมบูรณ์ ทั้งน้ำสะอาด ทุ่งหญ้ากว้างขวาง และอากาศบริสุทธิ์ วัวจะถูกเลี้ยงแบบปล่อย มีอิสระในการเคลื่อนไหว ทำให้มวลกล้ามเนื้อแน่น ไขมันน้อย มีครบทั้งรสชาติอ่อน และความนุ่มลิ้น ว่ากันว่าเป็นเนื้อที่ดีต่อผู้บริโภค

 

วัตถุดิบ และรสชาติ

เมนูนี้มีวัตถุดิบหลักคือ เนื้อวัวอะคะอุชิ (Akaushi) ที่ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งสายพันธุ์ที่ดีที่สุดในญี่ปุ่น มีมันแทรกในปริมาณน้อย ทำให้ดีต่อสุขภาพ เนื้อในชามจะถูกย่างมาในระดับมีเดียม แรร์ (Medium Rare) กึ่งสุกกึ่งดิบ ท็อปปิ้งด้วยไข่ลวกยางมะตูม

 

หาทานได้ที่ไหน ทานเมื่อไหร่

อะคะ วากิวด้ง (Aka Wagyudon) สามารถหาได้ทั่วไปตามร้านอาหารญี่ปุ่นทั่วเมืองอะโสะ (Aso) จังหวัดคุมาโมโตะ (Kumamoto) เป็นเมนูที่ไม่ควรพลาด และยังนิยมนำเนื้อไปทำเมนุอื่นๆ อาทิ นาเบะ ชาบูชาบู หรือเนื้อย่างเป็นต้น

 

เพจที่เกี่ยวข้อง

 

 

 

ค้นหา

Categories

Archives

Please Choose Your Language

Browse the JNTO site in one of multiple languages